แก้วกานต์ กองโชค ราคาข้าวขายส่งตลาดกรุงเทพฯ ประจำวันศุกร์ ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ของสมาคมโรงสี ปรากฎว่า ราคาข้าวขาวมีแนวโน้มลดลง ตลอด โดยข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 (ปีการผลิต 58/59) ราคาขายส่งตลาดกรุงเทพอยู่ที่ 1,950 – 2,070 บาท/100 กิโลกรัม ข้าวหอมปทุมธานี (ยิงสี)ราคาขายส่งตลาดกรุงเทพฯ 1,400 บาทต่อ 100 กิโลกรัม ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาขายส่งอยู่ที่ 1,170 บาทต่อ 100 กิโลกรัม และข้าวขาว 5% ราคาขายส่งอยู่ที่ 1,120 – 1,140 บาทต่อ 100 กิโลกรัม นี่คือ ราคาข้าวสารที่ผ่านกระบวนการสีข้าวเรียบร้อย ราคาเหล่านี้ จะถูกแปลงกลับไปสู่ราคาข้าวเปลือก เพื่อรับซื้อจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกทอดหนึ่งนั่นทำให้ราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันปรับลดลงมากจากการสำรวจราคาข้าวเปลือกในแต่ละจังหวัดของสมาคมโรงสีข้าวไทย พบว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้า 5% ได้ปรับตัวลดลงจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ที่ผลผลิตเริ่มทยอยออกมาแล้วในบางจังหวัดปรับตัวลดลงถึง 1,000 บาท/ตัน ราคา ณ วันที่ 26 ต.ค. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 15% จ.บุรีรัมย์ ราคาอยู่ 9,000 บาท/ตัน ลดลงจากวันที่ 19 ต.ค. ที่มีราคา 10,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิที่จ.นครราชสีมา ความชื้น 30% วันที่ 26 ต.ค.59 ราคาอยู่ที่ 6,800 - 7,000 บาท/ตัน ขณะที่ราคา ณ วันที่ 19 ต.ค.59 ที่ความชื้น 15% อยู่ที่ 9,800- 10,000 บาท/ตัน ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ความชื้น 15% ณ วันที่ 26 ต.ค.59 ที่ จ.สุพรรณบุรี ราคา 7,400 - 7,700 บาท/ตัน ปรับลดลงจากวันที่ 19 ต.ค.ที่ราคา 8,700 บาท/ตัน หรือลดลง 1,000 บาท/ตัน ทั้งนี้ ราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้า ณ เดือน ธ.ค.59 ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ส่งออกซื้อข้าวสารหอมมะลิจากผู้ประกอบการโรงสีจะอยู่ที่ 15,800 บาท/ตัน หรือ 15.80 บาท/กิโลกรัม เมื่อทอนเป็นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะอยู่ที่ 8,000 กว่าบาท/ตัน เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิที่ซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 490 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งถือว่าเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 กว่าปี ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของเวียดนาม 350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของอินเดีย 350 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของปากีสถาน 345 เหรียญสหรัฐ/ตัน อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์กันว่า ราคาอาจจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กำลังดำเนินโครงการซื้อข้าวสารหอมมะลิมาเก็บสต๊อกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ปริมาณ 2 แสนตัน ในราคาตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ร้องขอ โดยจะเริ่มซื้อระหว่าง 15 พ.ย.-15 ธ.ค.59 ซึ่งมีการกำหนดให้ซื้อขั้นต่ำตั้งแต่ 1,000 ตันขึ้นไป สื่อหลายแห่งรายงานว่า มีการประชุมแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่จังหวัดพิจิตร ในห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ประกอบด้วย นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พ.อ.ชัยเดช สุรวดี รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แกนนำกลุ่มเกษตรกรเกือบ 100 คน ที่ร้องเรียนปัญหาราคาข้าวตกต่ำ นางสนิท กะโห้ แกนนำชาวนาจาก ต.สายคำโห้ อ.เมืองพิจิตร ที่นำตัวอย่างข้าวสารและรวงข้าวใกล้ถึงวันเก็บเกี่ยวเข้าร้องทุกข์ด้วยน้ำตาต่อปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่า ตอนนี้ราคาข้าวตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ญาติพี่น้องของตนเกี่ยวข้าวได้ผลผลิตนำไปเร่ขายให้ตามโรงสีและท่าข้าวก็ตีราคาให้แค่เพียงตันละ 5,200 บาท แต่ไม่รับซื้อโดยอ้างว่าไม่รู้จะซื้อไปขายส่งต่อให้กับใคร เพราะตลาดรับซื้อข้าวหยุดนิ่ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์อธิบายสถานการณ์ข้าวว่า ในช่วงเดือน ต.ค.มีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาด 2 ล้านตัน และคาดว่าเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะมีข้าวออกสู่ตลาดมากถึง 25 ล้านตัน อีกทั้งยังมีข้าวในสต็อกของโรงสีต่างๆ อีก 8 ล้านตัน รวมแล้วข้าวภายในประเทศในฤดูกาลนี้จึงมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ความต้องการบริโภคในประเทศมีเพียง 9 ล้านตัน ดังนั้นส่วนที่เหลือจึงต้องเร่งทำตลาดส่งออก แต่ปัญหาก็คือคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนาม ปลูกข้าวขายต้นทุนต่ำกว่าไทย แต่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน นายมานะ วุฑฒยากร นายก อบต.วังกรด ในฐานะแกนนำ ได้เสนอข้อเรียกร้อง ให้เกษตรขายข้าวเกี่ยวสดได้ตันละ 1 หมื่นบาท แต่หากไม่ได้ อาจมีการรวมตัวของชาวนาพิจิตรนับหมื่นคนปิดถนน ความเดือดร้อนครั้งนี้ ท้าทายศักยภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง !!