ปัจจุบันมีสินค้าท้องถิ่นไทยที่ขึ้นทะเบียน GI ทั้งสิ้น 177 สินค้า และในปี 2565 สร้างมูลค่าการตลาดกว่า 48,000 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ หรือ GI ปลาทูแม่กลอง ให้เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อจากส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม และพริกบางช้าง
ซึ่งการได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI นั้นเป็นการการันตีสินค้าจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นว่า มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือ คุณลักษณะเฉพาะ ของแหล่งภูมิศาสตร์ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้าเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
สำหรับปลาทูแม่กลองมีแหล่งอาศัยในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเลบริเวณปากน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเล ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร ทำให้ปลาทูแม่กลองมีลำตัวกว้าง แบน สั้น ผิวหนังขาวเงินมันวาว มีแถบสีน้ำเงินแกมเขียวหรือแถบสีเหลือง ครีบหางสีเหลืองทอง มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านรสชาติและรูปร่าง
โดยเนื้อปลาทูที่นึ่งแล้วจะมีความละเอียดนุ่ม เนื้อแน่น หอม และมันมาก เมื่อนำมาบรรจุลงในเข่งจะมีลักษณะหน้างอ คอหัก ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จนมีคำกล่าวที่ว่า “ปลาทูแม่กลองของแท้ จะต้องหน้างอ คอหัก” บ่งบอกถึงเอกลักษณ์
ทั้งนี้แม้เราๆ ท่านๆ อาจจะสงสัยว่าปลาทูนั้น ก็ว่ายไปทั่วทะเลอ่าวไทยอยู่แล้ว แต่ทำไมจึงขึ้นทะเบียนปลาทูแม่กลองนั้น ก็เนื่องมาจากการตกลงกันว่าจะจดทะเบียนในเรื่องของการนึ่งปลา ที่กระบวนการนึ่งปลาทูด้วยภูมิปัญญาโบราณของชาวสมุทรสงคราม
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปลาทูแม่กลอง หรือสินค้าGI ประเภทอื่นๆ นอกจากต้องอาศัยการสนับสนุนและส่งเสริมจากทุกภาคส่วนแล้ว ยังต้องบูรณาการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้สินค้า GI เหล่านั้น สูญพันธ์หรือเปลือเพียงตำนาน
โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบ เช่น ภาวะโลกร้อน และวิกฤติสิ่งแวดล้อมต่างๆ ปัญหาน้ำเสีย ที่ต้องมองภาพรวมในการแก้ไขปัญหาบูรณาการกันทั้งระบบ เช่น การวางผังเมือง เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน