ทวี สุรฤทธิกุล
“ตระบัดสัตย์ - สลายขั้ว - ไม่เห็นหัวประชาชน” คือเทรนด์ใหม่ของการเมืองไทย
แต่ถ้าจะมองในมุมใหม่ “ตั้งรัฐบาลได้ - นายกฯใหม่ - ไหว้ขอโทษประชาชน” ก็เป็นวิธีทำใจอย่างหนึ่งของคนที่อาจจะผิดหวัง แต่ถ้าตั้งความหวังไปในอีกทางหนึ่งคือมองในแง่ดี เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกดี ๆ ขึ้นได้บ้าง
ผู้เขียนเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ ได้ร่ำเรียนมาถึงทฤษฎีและหลักการทางการเมืองทั้งตำราสากลและไทย เชื่ออย่างเต็มที่เช่นเดียวกันกับอาจารย์รัฐศาสตร์ทุก ๆ คนว่า นโยบายของพรรคการเมืองคือ “สัญญาประชาคม” นอกเหนือจากที่เป็นอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค ที่เป็นสาระสำคัญที่สุดของความเป็นพรรคการเมือง
นโยบายเหล่านี้คือข้อสัญญาของพรรคการเมืองและนักการเมืองในพรรคการเมืองนั้น ๆ จะต้องรักษาเป็นคำมั่น แม้แต่ที่มาอ้างภายหลังว่าเป็นแค่คำพูดตามกระแสเพื่อใช้หาเสียง อย่างที่พูดว่า “มีเราไม่มีลุง”แต่พอเลือกตั้งมาแล้วมีปัญหาเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ถีบเพื่อนเราเพื่อไปเอาลุง อย่างนี้เรียกว่า “ตระบัดสัตย์” อันเป็นคำสุภาพของคำว่า “โกหกตอแหล” เพราะหาเสียงอย่างหนึ่งแต่มากระทำอีกอย่างหนึ่ง
เหตุผลของการโกหกตอแหลนั้น มีการแถลงด้วยข้อความที่สวยหรูมากว่า เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลดำเนินต่อไปได้ ด้วยประเทศจะมีปัญหามากถ้าตั้งรัฐบาลล่าช้า พร้อมกลับขยายความเพิ่มด้วยเหตุผลที่อาจจะ “คิดน้อย” ไปหน่อยว่า อีกอย่างประชาชนก็ไม่ได้เลือกตั้งพรรคเพื่อไทยมาอย่างแลนด์สไลด์ ดังนั้น(ประชาชนจึงตระบัดสัตย์ต่อพรรคเพื่อไทยก่อน)พรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นที่จะหันไปหาพรรคอื่น ๆ เพื่อให้การร่วมรัฐบาลมีความเป็นไปได้ ดังนี้จึงเหมือนการ “กระทีบหัวประชาชน” หรือหันมาตำหนิประชาชนอีกว่า ทำไมไม่เลือกพวกตรูมาให้แลนด์สไลด์ จะได้ทำอะไรก็ได้ตามใจประชาชน
ขอให้คนไทยจำพรรคการเมืองแบบนี้ไว้ และอย่าลืมเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป !
คนที่ทำการเมืองแบบตระบัดสัตย์นี้มีตัวอย่างให้เห็นถึงชะตากรรมอันเลวร้ายในบั้นท้ายมาแล้ว ที่ร่วมสมัยใกล้ตัวก็น่าจะเป็นในสมัย รสช. ที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ฝืนมติมหาชนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายนปี 2535 ด้วยการสนับสนุนของพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยบอกว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีอีก รวมทั้งยอมรับด้วยว่านี่เป็น “การเสียสัตย์เพื่อชาติ” จากนั้นก็เกิดการประท้วงและนำมาซึ่งมิคสัญญีในเดือนพฤษภาคมปีนั้น
การที่พรรคเพื่อไทยหันมาจับมือกับสองพรรคของสองลุง มีผู้วิจารณ์ว่าน่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจของสองลุงนั่นเอง โดยวางแผนไว้ตั้งแต่ที่เขียนเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นแล้ว อย่างน้อยก็วางไว้ถึง “3 ดาบ” คือ
ดาบที่ 1 ให้ ส.ว.มีอำนาจเหนือ ส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยทำให้ ส.ว.เป็นพรรคที่ใหญ่เหนือกว่าพรรคใด ๆ เสีย มีจำนวนถึง 250 เสียง ส่วน ส.ส.แม้จะมี 500 คน แต่ก็ไม่น่าจะมีพรรคใดได้เสียงข้างมาก คือไม่เกิน 250 คนอย่างแน่นอน
ดาบที่ 2 แม้ว่า ส.ส.สามารถรวมกันหลังเลือกตั้งได้เกิน 250 เสียง แต่ถ้ายังไม่ได้เสียง ส.ว.มาเลือกก็มีโอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรีน้อยมาก ดังนั้นพวกที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องมาง้อ ส.ว. หรือมาง้อสองลุงนั่นเอง อย่างที่พรรคเพื่อไทยต้องตระบัดสัตย์ในครั้งนี้
ดาบที่ 3 ถ้าสภามีปัญหาเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อหมดแล้วก็ยังไม่ได้ ก็สามารถเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก ดังนั้นแม้ว่าลุงจะลาออกไปอยู่ข้างนอก แต่ถ้าคุณเศรษฐามีอันเป็นไป ลุงก็สามารถถูกเสนอชื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรือถ้าลุงอยากจะรักษาความสง่างาม ก็อาจจะหานายทหารที่เป็นนอมินีมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ลุงคอยเชิดต่อไปได้อีกนาน
พอดีเพิ่งได้ฟังข่าวที่คุณปรีณา ไกรคุปต์ ไปให้สัมภาษณ์ทีวีรายการหนึ่งว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้คือการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยมี “ลุงคนนั้น” อยู่เบื้องหลัง ก็เป็นไปตามกระบวนการข้างต้นที่ว่ามานี้
อย่างไรก็ตามก็มีผู้พยายามที่จะวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองในยุค “นิด 1” ในแง่ดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะที่ผู้เขียนติดตามอยู่ในโซเชียลมีเดียหลาย ๆ กลุ่ม โดยมีข้อคิดที่น่าสนใจอยู่มากเช่นกัน
เรื่องแรก อยากให้มองว่าเราได้นายกรัฐมนตรีที่มี “โปรไฟล์” ค่อนข้างดี คือเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีความสามารถ พูดฝรั่งดี บุคลิกดี ครอบครัวและประวัติส่วนตัวดี (ซึ่งคงจะโดนขุดคุ้ยเรื่องไม่ดีต่าง ๆ ต่อไป) และเป็นคนที่พรรคเพื่อไทยได้เลือก(โดยเฉพาะจากเจ้าของพรรค) จึงคิดว่าน่าจะนำประเทศไปได้เป็นอย่างดี โดยมีพรรคต่าง ๆ ให้ความร่วมมือ ช่วยกันรักษาเสถียรภาพ รัฐบาลก็คงจะมีความราบรื่น
เรื่องต่อมา แม้จะมีการโจมตีว่าได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจากการตระบัดสัตย์ แต่น่าจะมองว่านี่คือการ “หลอมรวมความขัดแย้ง” ทำให้ประเทศชาติเกิดสมานฉันท์ รวมถึงมีความเชื่อกันว่าความสำเร็จของการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ได้ดำเนินการมาด้วย “ดีลลับ” ที่ได้รับการยอมรับจาก “ผู้มีอำนาจทุกระดับชั้นของสังคม” คงจะทำให้ทุกพรรคทุกฝ่ายที่มารวมกัน อาจจะต้องรักษาดุลยภาพให้ดีเพื่อรักษาทุกสถาบันนั้นด้วย
อีกเรื่องหนึ่ง ฝ่ายที่เชียร์รัฐบาลตระบัดสัตย์ เอ๊ย สลายขั้วนี้ ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ขอให้ติดตามดูการทำงานของรัฐบาล “นิด 1” นี้ไปสักระยะ นอกจากนโยบายดี ๆ ต่าง ๆ ที่รัฐบาลชุดนี้จะได้นำมามอบให้ประชาชนแล้ว ยังอาจจะมีการ “สร้างสังคมใหม่” ด้วยการประสานกับฝ่ายค้านคือพรรคก้าวไกล ในการวางโครงสร้างและกลไกใหม่ ๆ แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่นี้ รวมถึงองค์กรอิสระที่โหลยโท่ยทั้งหลาย อันน่าจะเป็นความหวังของคนไทยและสังคมไทยในยุคใหม่นั้นต่อไปได้
ฟังเรื่องที่ 1 และ 2 ก็เคลิ้ม ๆ พอเชื่อได้บ้าง แต่พอมาถึงเรื่องที่ 3 ดูจะเป็น “ดิ อิมพอสซิเบิล ดรีม” หรือ “ฝันที่เป็นไปไม่ได้” เลยแม้แต่น้อย
สำนวนไทยบอกว่า คนที่แต่งงานแล้วเหมือนคนที่เข้าไปในดงตำแย เช่นเดียวกันกับนักการเมืองที่เข้าไปล่มหัวจมท้ายกันเป็นรัฐบาลแล้ว ก็คงไม่มีเวลาที่จะสงบสุข เพราะต้องมัวแก้ไขปัญหาพรรคร่วมรัฐบาลและในสภานั้นให้ได้เสียก่อน
แค่เกาหิดเกลื้อนให้กันและกันก็หมดเวลาแล้ว แล้วจะเหลือเวลาที่ไหนไปทำสิ่งดี ๆ ให้ประชาชน !