เสือตัวที่ 6

การจัดงานเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (PelajarKebangsaan) เมื่อ7 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ ม.อ.ปัตตานี เป็นช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือน พ.ค. ที่กระแสช่วงนั้นกำลังลุกกระพือ วาทกรรมการเรียกร้องในสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพในการดำรงชีวิตของประชาชนกันอย่างกว้างขวางโดยพรรคการเมืองใหญ่ที่กำลังเรียกคะแนนนิยมผ่านวาทกรรมดังกล่าวในช่วงนั้น ภายในงานได้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานีรวมทั้ง ได้มีการจัดพิมพ์บัตรเพื่อร่วมแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลในประเด็นให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย อันเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่ล่อแหลม ต่อความมั่นคงของชาติอย่างเอิกเกริก และไม่เคยเกิดการกระทำที่โจ่งแจ้ง เปิดเผย อหังการ อย่างนี้มาก่อน ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลและตื่นตระหนกของประชาชนในสังคมอย่างกว้างขวาง

จากกิจกรรมที่มีพฤติกรรมดังกล่าว กอ.รมน. ภาค 4 สน. ได้เข้าทำการตรวจสอบค้นหาความจริง พบว่าขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (PelajarBangsa ) กลุ่มนี้เป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งคนในขบวนการนักศึกษากลุ่มนี้ได้รับการหนุนหลัง ทั้งเปิดเผยและอย่างลับๆ จากกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง ให้เคลื่อนไหวสอดรับกับการต่อสู้ทางการเมือง  ในระดับชาติ โดยในวันดังกล่าวมุ่งเป้าชัดเจนในการเรียกร้องประเด็นสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (right to self determination : RSD) ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องโดยมี นายอิรฟาน อุมา เป็นประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติคนปัจจุบันและกิจกรรมครั้งนี้ พบว่าเป็นการเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติโดยมีนักการเมืองสมาชิกพรรคการเมืองนักวิชาการรวมทั้งเครือข่ายนักศึกษาเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ยืนยันว่า การลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดนั้น ไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน นับเป็นภัยต่อ ความมั่นคงแห่งรัฐ ในกรณีที่มีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าขบวนนักศึกษาแห่งชาติ จัดปาฐกถาพิเศษหัวข้อ การกำหนดอนาคตตนเอง ร่วมกับว่าที่นักการเมืองบางส่วน ทั้งยังมีการจัดให้ออกเสียงประชามติในกลุ่มคน ในวันนั้นในประเด็นคำถามที่ว่าเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชน ปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย โดยหน่วยงานความมั่นคงระบุ ชัดว่าการทำประชามติแยกดินแดนนั้นทำไม่ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาขอยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ ทุกหน่วยงานได้ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเต็มที่ให้กับปวงชนชาวไทยทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาโดยไม่เลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ แต่การแสดงออกดังกล่าว จะต้องไม่ไปละเมิดต่อหลักกฎหมาย และบูรณภาพแห่งดินแดนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

อย่างไรก็ตาม แม้ต่อมาขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (PelajarBangsa) จะกล่าวว่าการกระทำของพวกเขาในการออกเสียงประชามติที่จำลองว่า คนที่มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่นั้น ใช่การแบ่งแยกดินแดน รวมถึงปฏิเสธว่า ไม่มีพรรคการเมือง บางพรรคอยู่เบื้องหลังก็ตามซึ่งขัดแย้งกับที่ล่าสุด นายฮากิม รองเลขาธิการพรรคการเมืองหนึ่งและเป็นแกนนำ PataniBaru ได้โพสต์ข้อความที่ระบุว่าอยากให้ตัวแทนพรรคการเมืองหนึ่งขอโทษ PelajarBangsa ต่อประเด็นโพสต์ของพรรคที่ระบุถึงการแบ่งแยกดินแดนว่าพรรคการเมืองนั้น ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนโดยนายฮากิมกล่าวย้ำว่าพรรคการเมืองดังกล่าวยังปัดความรับผิดชอบเอาตัวรอดทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นผู้สนับสนุนขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (PelajarBangsa) มาโดยตลอดปรากฏการณ์เหล่านั้นจึงบ่งบอกว่ามีนักการเมืองบางกลุ่มให้การสนับสนุนกลุ่มขบวนการนักศึกษากลุ่มนี้ จนกระทั่งเกิดเรื่องอันหมิ่นเหม่ต่อการกระทำความผิดกฎหมายในประเด็นแบ่งแยกดินแดนจึงได้พยายาม  ตีตัวออกห่างเพื่อเอาตัวรอดจนกระทั่งเกิดการแตกคอกันในกลุ่มขบวนการนักศึกษากลุ่มนี้กับนักการเมืองบางพรรคให้เห็นในโลกโซเชียล

แม้จะปฏิเสธอย่างไรตาม การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาเนื่องจากเจตนาเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำ ซึ่งไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ในการวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือไม่นั้นจึงต้องดูที่การกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นๆ ว่ามีเจตนาอย่างไร ดังนั้น ในทางโลกและทางกฎหมายจึงต้องถือหลักว่า การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงความคิดของผู้กระทำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนานั่นเองซึ่งการกระทำที่ผ่านมาของคนในขบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ที่แตกต่าง พร้อมคำปราศรัยที่บ่งบอกถึงการต่อต้านรัฐที่ผ่านมา  การออกกฎหมายหรือนโยบายของรัฐใดๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการต่อสู้ของขบวนการนี้ จนถึงกิจกรรมแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลในประเด็นให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย สนับสนุนประชามติสิทธิกำหนดอนาคตตนเอง (RSD) ดังกล่าวนั้น จึงชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีเจตนาที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งรัฐจะต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ให้คนกลุ่มนี้กล้าแข็งจนกระทั่งกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐในที่สุด