ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราใช้กันอยู่นี้เป็นฉบับปัจจุบัน ที่ใช้บังคับมาแล้ว 6 ปี  ซึ่งฉบับนี้มีกลไกลในการป้องกันไม่ให้ฉีกรัฐธรรมนูญเขียนใหม่ทั้งฉบับได้ง่ายๆ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนเสียก่อน

ประเด็นนี้ กลับมาเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันอย่ากว้างขวาง  ด้วยในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย เรื่อง เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ในการประกาศถอนตัวจากบันทึกข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคกับพรรคก้าวไกล มีเนื้อหาในแถลงการณ์ในบางช่วงบางตอนระบุว่า  

“เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

จึงชัดเจนว่า การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จะมีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากย้อนกลับไปดูการเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จากจำนวน ส.ส.ของ 2 พรรคการเมือง คือพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลนั้น คือ พรรคก้าวไกล 151 และพรรคเพื่อไทย 141 นั่นอาจทำให้เห็นทิศทางของการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ซึ่งจะถือเป็นสนามแรก ในการหยั่งเสียงประชาชน ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ “สลายขั้ว” ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา นิด้าโพลล์ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ถึงการเลือกพรรคเพื่อไทยตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.62 ระบุว่า ไม่เคยเลือก พรรคเพื่อไทย (หรือพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชน) รองลงมา ร้อยละ 33.13 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้ง เมื่อ 14 พ.ค.2566 ร้อยละ 26.72 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566 และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ “สลายขั้ว” ของพรรคเพื่อไทย ตัวอย่าง ร้อยละ 47.71 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 19.47 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 16.79 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 15.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ดังนั้น การทำประชามติที่ออกมา จะไม่ได้มีผลเฉพาะต่อรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีผลต่อพรรคเพื่อไทย แม้จะชูประเด็นร่วมในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะสะท้อนคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยไปในตัว  หากแต่ด่านสำคัญก็คือ ในการประชุมครม.ครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอนำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมมีรัฐมนตรีจากขั้วรัฐบาลเดิมก็ต้องดูว่าจะฝ่าด่านไปได้อย่างไรก่อน