“อนาคตข้างหน้า โลกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มนุษย์จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเดือดร้อนน้อยกว่า ถ้ามนุษย์จะรู้จักตัวเองดีว่า เขาเป็นใคร รักชอบสิ่งไหน และด้วยความสมเหตุสมผลเพียงใด? เพราะความรู้เหล่านั้นจะทำให้มนุษย์มีสติ มีความคิด และเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดี ว่า เขาควรจะทำอะไรแค่ไหน ในสิ่งที่ต้องทำในขณะปัจจุบัน ” ผมได้ข้อสรุปแนวคิดเช่นนี้ มาจากการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ และที่สำคัญกว่าอื่น คือได้จาก ‘ครู’ผู้สอนคนหนึ่งชื่อ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ที่ให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ผม ทั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และขณะที่ท่านตายจากไป ‘อาจารย์คึกฤทธิ์’ เป็นคนๆแรกที่ใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ” ให้ผมได้รับรู้ ได้ซักถาม ได้ถกเถียงข้อสงสัยในหลายประเด็นก่อนจะได้ข้อยุติ และเป็นครูคนเดียว ที่ทำให้ผมได้ซึมซับเรื่องราวของ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทย’ ได้มากพอ ที่จะไว้ใช้คุยกับคนที่ไม่รู้ หรือชาวต่างประเทศบางคนได้บ้างว่าสังคมไทยของผมเคยมีเคยเป็นอะไรอย่างไรมา “ตัวเราเอง ต้องรู้จักตัวเองให้มากพอเสียก่อน หูตาของเราจะได้กว้างขึ้น ก่อนที่จะไปเรียนหรือรู้จักสิ่งอื่นๆต่อไป เพราะโลกมันจะต้องเปิดกว้างและเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เราต้องรู้จักตัวเราให้มากเข้าไว้ก่อน แล้วเราจะได้ประโยชน์จากการรู้จักสิ่งอื่นในโลกได้มากขึ้น ผมจะต้องไปพูดปาฐกถาเรื่องนี้ ใครมีเวลาก็น่าจะตามไปฟังกันได้ก็ดี” อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวความนี้ในวงสนทนาวันหนึ่ง เมื่อราวช่วงทศวรรษปี 2520 ผมไม่มีโอกาสตามไปฟังอาจารย์คึกฤทธิ์ขณะที่ท่านพูด แต่ได้พยายามติดตามเสาะหาคำถอดเทปปาฐกถาที่อาจารย์พูดไว้มาอ่านตามคำแนะนำของอาจารย์ จำได้ว่าเมื่อได้มาครบผมได้ทำสำเนาส่งให้อาจารย์อ่านด้วย ตามที่ท่านอยากอ่านสิ่งที่ตนพูดไว้อีกครั้ง อ่านแล้วอาจารย์คึกฤทธิ์ยังส่งต้นฉบับคืนกลับให้ผมพร้อมคำพูดว่า “ใช้ได้ ไม่มีอะไรผิดหรือขาดไปจากที่ผมพูด คุณเอาเก็บไว้อ่านต่อไปก็แล้วกัน เผื่อจะเอาไว้ใช้เขียนหรือเอาไว้เล่าต่อให้ลูกหลานฟังต่อไปอีกก็ยังได้ หลังจากที่ผมตายไปแล้วละ” หลังความตาย หรืออสัญกรรมของอาจารย์คึกฤทธิ์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ความรู้ชิ้นนี้ ผมถือเป็น ‘สิ่งที่ควรรู้’อีกหนึ่งชิ้น ที่ผมยังเก็บรักษาไว้ด้วยความรู้สึกว่า ความรู้เหล่านี้นับวันแต่จะมีผู้ที่รู้จริง(พร้อมด้วยสติและปัญญา)ในระดับนี้ น้อยลงไปทุกวัน ณ โอกาสที่ปวงชนชาวไทยยังอยู่ในอารมณ์ร่วมแห่งการระลึกถึง ‘พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ’ในพระบรมโกศ ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์เคยมอบกายถวายชีวิตมาตลอดเวลาที่ยังมีชีวิต ผมคิดว่าเวลานั้นมาถึงแล้ว คือโอกาสที่เรา(โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าที่ยังไม่มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้)จะได้อ่านปาฐกถาชิ้นนี้กันอีกครั้ง ว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทย’ ในทรรศนะของอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีสิ่งที่ควรรู้สำหรับปวงชาวไทยเพียงใด ค่อยๆอ่าน ค่อยๆฟัง และค่อยๆคิดตามกันไปเถิดครับ หลังจากจบแล้ว ถ้าจะมีความคิดอย่างไรติดตามมาอีก แล้วค่อยว่ากันต่อไปครับ สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทย หัวข้อเรื่อง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทย’นั้น เป็นเรื่องที่ผมจะต้องสืบเท้าความย้อนกลับไปในอดีต ตั้งแต่อดีตของไทย คือกรุงสุโขทัยลงมา จนถึงประเทศไทยในปีพ.ศ. 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นเป็นศูนย์แห่งการปกครองของประเทศ คือทุกอย่างต้องขึ้นกับสถาบันนี้เกือบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องเท้าความไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในอดีต ซึ่งแต่ละยุคมีความแตกต่างกัน เช่นในสมัยสุโขทัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราชก็เป็นอย่างหนึ่ง มาจนถึงสมัยอยุธยาที่เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ต่อเนื่องมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อปีพ.ศ.2475 ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่จะต้องพิจารณาความแตกต่างกัน ในสมัยสุโขทัยนั้น หลักฐานก็อยู่ที่หลักศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหง ซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะได้ผ่านตามาแล้ว........... (ถึงตรงนี้ผมขออนุญาตหมายเหตุแทรกว่า ขณะที่อาจารย์คึกฤทธิ์แสดงปาฐกถาชิ้นนี้ ข่าวโต้แย้งเรื่องหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะในหลักต้นๆ เป็นของแท้หรือไม่แท้? ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้อาจารย์คึกฤทธิ์จึงได้มีความเห็นตามที่ข้อเท็จจริง ณ ขณะนั้นมีอยู่ ยังไม่ได้อยู่บนแนวคิดว่าสนับสนุนหรือคัดค้านข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นการอ่านความเห็นเก่าของพวกเราที่เป็นคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ จึงขอให้อ่านด้วยความเข้าใจเช่นนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ความเห็นในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในสาระที่อาจารย์คึกฤทธิ์จะนำเสนอ ผมจึงขออนุญาตแทรกเป็นข้อสังเกตไว้เพื่อทราบเท่านั้นเองครับ) สรุปได้ว่าตามศิลาจารึกนั้น พระมหากษัตริย์กับราษฎรของพระองค์อยู่ใกล้ชิดกันมาก เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คือใกล้ชิดกันขนาดขึ้นกู ขึ้นมึง กันได้.......อย่างไรก็ตาม ดูพระราชกรณียกิจทุกอย่างที่ปรากฏในศิลาจารึกแผ่นนั้น ผมเข้าใจว่าการภาษีอากรหรือการที่ราษฎรจะมีส่วนเข้าไปช่วยในการปกครองประเทศนั้นค่อนข้างจะมีน้อย................สถาบันพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นจึงเปรียบเสมือนผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ ให้ความคุ้มครองผู้น้อย คือชาวเมืองสุโขทัยให้ได้อยู่กันเป็นปกติสุข โดยไม่มีศัตรูใดๆมารบกวน และอยู่ในฐานะเป็นคนบ้านเดียวกัน สนิทสนมกัน ซึ่งตำราส่วนใหญ่มักจะเรียกการปกครองนั้นว่า ระบอบบิดากับบุตร แต่ความเห็นของผม ผมคิดว่าการที่ใช้ศัพท์เรียกอย่างนี้ดูจะเข้ามาใกล้ชิดกันมากเกินไปหน่อย คล้ายๆกับว่าพระมหากษัตริย์จะต้องมาดูแลความประพฤติ จะต้องมาคอยวุ่นวายให้ลูกได้กินได้นอน อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ในความเห็นผม ผมเห็นว่าเป็นเรื่องของคนใกล้ชิดกัน ระดับไม่สูงต่ำห่างกันนัก ชนิดที่ว่าพูดอะไรก็พอจะพูดกันได้ น่าสังเกตว่าในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหง ในการพูดถึงพระมหากษัตริย์ไม่มีคำราชาศัพท์อยู่เลย ซึ่งแตกต่างกันมากกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา เพราะเหตุว่าในยุคสุโขทัยสมัยพระเจ้ารามคำแหงนั้น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นคน เป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนบ้าน เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ให้ความคุ้มครอง ซึ่งแตกต่างจากยุคอยุธยาโดยสิ้นเชิง (ก่อนที่จะลงท้ายเรื่องนี้ว่า ‘อ่านต่อสัปดาห์หน้า’ ผมขออนุญาตย้ำว่า จากการศึกษาค้นคว้าในยุคหลังจากที่อาจารย์คึกฤทธิ์เสียชีวิตแล้ว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏชัดขึ้นว่า ความเป็นไทยของชนชาติที่กลายมาเป็นประเทศไทยในขณะนี้ มิได้เริ่มต้นที่กรุงสุโขทัยอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เพื่อความเข้าใจที่สมบูรณ์ในการอ่าน จึงขอเรียนให้ท่านผู้อ่านรับทราบหรือตระหนักไว้ด้วย ก่อนที่จะไปพบเรื่องราวสมัยอยุธยาในตอนหน้า ซึ่งความเห็นจะชัดเจนและลงตัวมากกว่านี้ครับ)