“พระบรมโพธิสมภาร” เป็นอีกคำหนึ่งซึ่งชาวไทยคุ้นเคย เช่นเดียวกับคำว่า “พระบารมี” แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะยังไม่เข้าใจความเข้าใจรากลึกของคำนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความเรื้องคำแปลของคำว่า “พระบรมโพธิสมภาร” โดยกล่าวว่า “คำว่าโพธิสมภารและความหมายของคำนี้นั้น พบอยู่ในคำจารึกที่พระชัยนวโลหะของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการแสดงพระคุณ คือสัมปทาทั้ง 3 คือ เหตุสัมปทา 1 ผลสัมปทา 1 สัตตูปการสัมปทา 1 เหตุนั้นคือ มหากรุณาสมาโยโค ความประกอบด้วยเอื้อเฟื้อด้วยดีซึ่งพระกรุณาใหญ่ในสัตว์เป็นอันมากไม่มีประมาณแล้วยั่งยืนในพระสันดานมิได้เสื่อมคลาย” (สยามรัฐ , 23 ก.ค 2531 : 9)” จากนั้นท่านได้เน้นย้ำความหมายของคำว่า บารมี ว่า ความเต็มเปี่ยมแห่งพระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินเป็นเครื่องประดับอย่างดีของพระบรมโพธิสมภาร ซึ่งเป็นความถึงพร้อมด้วยเหตุในปางก่อน เป็นเหตุ เป็นผลแห่งความถึงพร้อมด้วยญาณด้วยกาละ ด้วยอานุภาพด้วยรูปกาย ด้วยปุกการะแห่งหมู่สัตว์ ด้วยอาศัยญาณและความเพียร ตลอดจนทรงประกอบด้วยมหากรุณา โดยทั่วไปมักเข้าใจเพียงว่า คำว่า “โพธิสมภาร” หมายความว่า บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ แต่คำ “โพธิสมภาร” นี้มีรากลึกทางพระพุทธศาสนา “เพ็ญชมพู” อธิบายไว้ใน “เรือนไทย.วิชาการ.คอม” ว่า “...หากพิจารณาแยกออกเป็น ๒ คำจะได้ความมากกว่า  โพธิ หมายถึง ความตรัสรู้ ส่วน สมภาร โดยทั่วไปเราจะนึกถึงพระที่เป็นเจ้าอาวาสวัด แต่โดยรากศัพท์ก็สามารถแยกออกมาได้เป็นอีก ๒ คำคือ สํ หมายถึง พร้อม และ ภาร เป็นคำเดียวกับ ภาระ หมายถึงสิ่งที่หนัก ดังนั้น  พระบรมโพธิสมภาร จึงแปลว่า “หน้าที่อันประเสริฐและยิ่งใหญ่ที่จะแบกสิ่งที่หนักเพื่อพร้อมสำหรับการตรัสรู้" ผู้ที่เตรียมพร้อมจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในทางพุทธศาสนาคือ พระโพธิสัตว์ ตรงตามคติโบราณว่า พระมหากษัตริย์ก็คือพระโพธิสัตว์นั่นเอง ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกด้วย หมายถึงทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะ "ตะขิดตะขวงใจ" ที่จะใช้คำว่า "ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร" กับคนทุกศาสนา แต่สำหรับพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นซึ่งไม่ทรงนับถือพุทธศาสนา คงไม่เหมาะที่จะใช้คำนี้” สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระบารมีเหตุด้วยระบรมโพธิสมภาร ตามความหมายที่อธิบายข้างต้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ทรงคุณ อันประเสริฐ และแม้ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วก็ตาม ก็ยังทรงมีพระคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทย เพราะ “ในทางใช้พระคุณนั้น รัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยมิได้กล่าวถึงไว้เลย เป็นอันว่าไม่มีข้อสงสัยในการที่พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระคุณในทางใด ๆ ก็ได้ และเมื่อทรงใช้พระคุณนั้นแล้ว รัฐบาลใดก็ตามซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น ก็ต้องมองการใช้พระคุณนั้น ด้วยความเคารพยิ่ง ไม่มีการเข้าไปทัดทานในการใช้พระคุณของพระมหากษัตริย์” (คึกฤทธิ์ ปราโมช , สยามรัฐ , 30 ตุลาคม 2536 หน้า 5)