ติดตามต่อกับข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จากการประเมินผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองสังคม ต่อจากฉบับที่แล้ว ที่แนะนำให้รัฐบาลใหม่ ควรทำประการแรก คือควรจัดสวัสดิการที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างสวัสดิการเฉพาะกลุ่มและสวัสดิการถ้วนหน้า
ประการสอง รัฐบาลใหม่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความยากจนและให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยอาจเรียนรู้แนวทางของประเทศจีนที่ใช้ฐานข้อมูลคนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการระดับพื้นที่ที่ถูกต้องตามหลักสถิติ ซึ่งแม่นยำกว่าการใช้แนวทางให้คนจนมาแจ้งว่าตัวเองจน โดยใช้ข้อมูลชุดนี้ในการจัดสรรงบประมาณกระจายตามพื้นที่ (เช่นระดับจังหวัด ระดับอำเภอหรือตำบล) แล้วใช้กลไกรัฐบาลท้องถิ่นหรือชุมชนในการกระจายงบประมาณไปสู่คนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการให้คนจนมาจดทะเบียนซึ่งมีความคลาดเคลื่อนมากจากปัญหา "คนจนไม่จด คนจดไม่จน" ทั้งนี้รัฐบาลอาจพัฒนา "แผนที่ความยากจน" ต่อยอดจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยจัดทำมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกระจายงบประมาณดังที่กล่าวข้างต้น
ประการสาม รัฐบาลใหม่ควรหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อระบบความคุ้มครองทางสังคม เช่น นโยบาย "ขอเลือก ขอคืน และขอกู้" ของรัฐบาลประยุทธ 2 ที่ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนบางส่วน ซึ่งผิดหลักการประกันสังคมและจะทำให้ประชาชนสูงอายุไม่มีเงินบำนาญเพียงพอในอนาคต
- การแก้ปัญหาแรงงาน
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้ ประการแรก รัฐบาลควรกำหนดกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่ต้องการโดยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และปรับขึ้นอย่างเป็นระยะเช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี เพื่อสร้างหลักประกันว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างในระดับที่เหมาะสม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ ตลอดจนอาจพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง
ประการที่สอง รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย ประการที่สาม รัฐบาลใหม่ควรสานต่อนโยบายการดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูงและเร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จ ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายแรงงานต่างชาติทักษะปานกลาง-ต่ำในระยะยาวให้ชัดเจน โดยมุ่งให้ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ลดลงในอนาคต จากการยกระดับภาคการผลิตของไทยให้ใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น (อ่านต่อฉบับหน้า)