รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ข้อมูลถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร องค์กรหลายแห่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้อมูล แต่การนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในมิติต่าง ๆ กลับเป็นเรื่องที่ยากและล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากองค์กรเผชิญกับปัญหาด้านคุณภาพข้อมูล (Data Quality) เช่น ข้อมูลซ้ำซ้อน ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ข้อมูลไม่สอดคล้องตรงกัน ข้อมูลผิด ข้อมูลเก่า/ล้าสมัย และข้อมูลขาดความปลอดภัย เป็นต้น และอุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงของคู่แข่งและผู้รับบริการหรือลูกค้าดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน

การหลีกหนีความล้มเหลวของการใช้ข้อมูลทางหนึ่งคือ การจัดการกับข้อมูลโดยการสร้างหรือจัดกระทำให้ข้อมูลมีคุณภาพ ซึ่งข้อมูลจะถือว่ามีคุณภาพสูงก็ต่อเมื่อข้อมูลแสดงถึงสถานการณ์บนโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ และที่สำคัญสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปคือ เมื่อมีการนำข้อมูลไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันอาจต้องใช้ชุดข้อมูลที่มีคุณภาพแตกต่างกันด้วย

“คุณภาพของข้อมูล” (Data Quality) เป็นการวัดคุณภาพของข้อมูล โดยพิจารณาว่าข้อมูลสามารถตอบสนองต่อจุดประสงค์ใน การใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน โดยข้อมูลต้องผ่านการพัฒนาและการใช้เทคนิคการจัดการคุณภาพกับข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลเหมาะสมต่อการตอบสนองความต้องการเฉพาะ ทั้งนี้ข้อมูลที่ดีมีคุณภาพไม่ใช่การนำมาใช้เพื่อสื่อหรือแสดงผลข้อมูลอย่างถูกต้องเพียงอย่างเดียว แต่ข้อมูลที่ดีมีคุณภาพต้องเป็นที่ต้องการและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้จริง (อ่านเพิ่มเติม -https://digi.data.go.th/blog/
what-is-data-quality/)

ตามเกณฑ์เพื่อพิจารณาคุณภาพของข้อมูลอาจแบ่งออกเป็น 7 มิติหลัก ได้แก่ ความแม่นยำ (Accuracy) ข้อมูลควรสะท้อนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด ความสมบูรณ์ (Completeness) ข้อมูลในชุดข้อมูลควรมีความครบถ้วน ไม่มีค่าว่างในช่องที่ข้อมูลควรมีค่า ความสอดคล้อง (Consistency) ข้อมูลชุดเดียวกันเมื่อเคลื่อนผ่านเครือข่ายและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ค่าของข้อมูลเดียวกันที่จัดเก็บไว้ในตำแหน่งที่แตกต่างกันไม่ควรขัดแย้งกันหรือไม่เหมือนกัน ความถูกต้อง (Validity) ข้อมูลที่ดีควรรวบรวมข้อมูลตามรูปแบบที่กำหนดไว้ และอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ความเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) ข้อมูลที่เป็นการตรวจสอบว่ามีข้อมูลซ้ำหรือทับซ้อนของค่าในชุดข้อมูลหรือไม่ เช่น ข้อมูลประชากรรายจังหวัด ก็ควรที่จะมีจังหวัดหนึ่ง ไม่ควรมีชื่อจังหวัดที่ซ้ำกัน ความทันเวลา/
เป็นปัจจุบัน (Timeliness) ข้อมูลที่พร้อมใช้งานเมื่อจำเป็น ข้อมูลอาจได้รับการปรับปรุงตามเวลาจริงเพื่อให้แน่ใจว่าพร้อมใช้งานและเข้าถึงได้ และสุดท้าย ความพร้อมใช้ (Availability) ข้อมูลที่จัดอยู่ในรูปแบบพร้อมนำไปใช้งาน เหมาะสมกับผู้ใช้งาน และมีการเผยแพร่เหมาะสม

การประเมินว่าคุณภาพของข้อมูลดีหรือไม่ดีส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้และความเข้าใจของผู้ใช้ข้อมูลว่าดีพอและนำไปใช้ตามที่ความคาดหวังได้หรือไม่ โดยจะประเมินและตีความคุณภาพข้อมูลโดยรวมเพื่อแสดงความถูกต้องของข้อมูล ยิ่งคุณภาพข้อมูลต่ำมากเท่าใดก็อาจจะสื่อได้ว่าการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานอาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดมากขึ้น

กฎการวัดคุณภาพข้อมูลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการกำกับดูแลข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งควรจะมีการพัฒนาและกำหนด ไว้เป็นชุดข้อมูลมาตรฐานเพื่อช่วยสร้างและตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ มีรูปแบบที่เหมือนกันหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปของการใช้ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเมือง จะขับเคลื่อนไม่ได้เลย ถ้าปราศจากซึ่งข้อมูล แต่เพียงแค่การมีข้อมูลเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยล่าสุดด้วย เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามการเมืองที่เต็มไปด้วยการต่อรองและความไว้วางใจเป็นศูนย์หรือติดลบ

ในทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ หากคู่เจรจาสามารถรับรู้ชั้นเชิง รู้เทคนิค และวิเคราะห์หรืออ่านความรู้สึก (Sentiment Analysis) ของฝ่ายตรงข้ามได้แม่นยำผ่านข้อมูลที่มีโครงสร้าง กึ่งโครงสร้าง และไม่มีโครงสร้างที่ทันสมัย ลับ ลวง พราง และทันต่อสถานการณ์ สิ่งนี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความได้เปรียบแห่งอำนาจต่อรองและจะนำสู่ชัยชนะในที่สุด

สำหรับสิ่งที่ต้องตระหนักให้มาก ๆ ในยุคนี้คือ “ความเยอะของข้อมูล” การมีข้อมูลที่เยอะไม่ได้บ่งบอกว่าจะเป็นผู้ชนะเสมอไป เพราะหากข้อมูลนั้นเป็น “ขยะ” ก็เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ ดังนั้น ในทางการเมืองทำให้ต้องใช้ทั้งเวลา ประสบการณ์ และสัญชาตญาณ ร่วมกับกระบวนการในการกลั่นกรองและแยกแยะข้อมูลผ่านการใช้เทคนิคการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจบริหารบ้านเมืองที่
ไม่ตกเป็นรองใคร

เมื่อมีเทคนิคการใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลย่อมสะท้อนถึงอมตะวาจาของปราชญ์จีนนามอุโฆษ “ซุนวู”ผู้ประพันธ์ตำราพิชัยสงครามที่เคยกล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”