ศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ เจ้าของ “วาทกรรม”  “กุศลปรุงแต่งกรรม/วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” ได้เขียนแนวคิดในการสร้าง “เครื่องมือ” เพื่อศึกษาสังคม (คือวิธีวิทยา หรือ “Methodology”) ไว้ในหนังสือเล่มสำคัญช่วงปลายชีวิตของท่านเล่มหนึ่งคือ “ทฤษฎีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์” ในส่วนของ “คำนำผู้เขียน” ตอนหนึ่งว่า :

“…อาศัยทฤษฎีที่ศรัทธาว่า งานวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ต้องยึดถือคนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วยศรัทธาว่า “กุศลปรุงแต่งกรรม วัฒนธรรมปรุงแต่งคน”

ข้าพเจ้าเหลียวหลังไปดูทางที่เคยเดินผ่านมา พบว่าไม่มีสิ่งอื่นใดจะเหมาะที่เป็นทางชี้นำ(มรรค) อันจะเป็นหิตานุหิตประโยชน์ต่อนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ของไทยสำหรับศึกษาคนไทยและสังคมไทยเกินกว่าพุทธศาสตร์…

สิ่งที่เก็บมาได้ล้วนเป็นเพชรที่เจียระไนมานานกว่า 100 ปี จนถึงกว่า 2500ปี ใครจะเห็นเป็น “คร่ำ” หรือ “ครึ” ก็แล้วแต่วิสัย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งนี้แวววาวเหนือกว่ารังสีทางสังคมศาสตร์ที่ทอรัศมีมาจากทิศตะวันตก ทั้งมั่นใจว่าจะไม่เป็นมลพิษกับโลกตะวันออก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในภูมิภาคส่วนนี้มาแต่ต้น”

เป็นที่น่าเสียดายว่า หนังสือเล่มสำคัญของอาจารย์สุธิวงศ์เล่มนี้ ได้รับการเผยแผ่อยู่ในวงแคบๆ เฉพาะในส่วนของนักวิจัยในโครงการวิจัยของ “เมธีวิจัยอาวุโส สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์” (ศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์) เรื่อง “โครงสร้างและพลวัตรวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา” และ ในหมู่บรรดานักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.)ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 เท่านั้น   

ความทรงค่าในงานชิ้นนี้ของปราชญ์ผู้พยายามสร้าง “วิธีวิทยา” ในการศึกษาสังคมไทยอย่างมี “อัตลักษณ์ไทย” จึงไม่ได้รับการเผยแผ่อย่างกว้างขวางอย่างที่ควรจะเป็น

ในคืนวันที่สังคมไทยตกอยู่กลางภาวะ “สังคมรากขาด” อย่างปัจจุบัน เพราะผลจากการไปสมาทานกรอบวิธีคิดในการ “พัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย” (แค่ประมาณ 6 ทศวรรษ) โดยขาดความสำเหนียกรู้แบบที่ปัญญาชนคนสำคัญอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เคยกล่าวไว้ว่า “รับมาอย่างไม่เลือกแก่นทิ้งกาก” จนทำให้องค์คุณทางสังคมที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” (โครงสร้างขั้นบนทั้งหมด เช่น ระบบการเมือง ระบบการศึกษา และระบบจริยธรรม เป็นต้น)ที่สืบสานพัฒนาต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานค่อยๆลมสลายลง  อย่างที่ประจักษ์ตาประจักษ์ใจ อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งอาจพยากรณ์ต่อได้ว่า สิ่งที่จะล่มสลายตามมาก็คือสังคมไทยทั้งสังคม!

ระบบการคิดเชิง “กลไก” แบบวัตถุนิยมล้วนๆของระบบคิดกระแสหลักจากประเทศจักรวรรดิยมตะวันตก ได้เปลี่ยนระบบการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบคุณค่าในสังคมไทยไปตามแรงโฆษณาชวนเชื่อของระบบ “ทุนนิยมเสรี” อย่างไม่ลืมหูลืมตา จนสังคมที่เคยยึดหลัก “ทางสายกลาง” หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “ระบบที่รู้จักความพอดี” ในระบบคุณค่าแบบวัฒนธรรมที่เกิดจากอิทธิพลความเชื่อของพระพุทธศาสนาแบบไทยๆไปเสียสิ้น

ถ้าจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องกล่าวว่า แม้แต่องค์กรทางศาสนาพุทธเอง เช่น วัดและพระสงฆ์ส่วนใหญ่ ก็ล้วนสำแดงให้ชาวบ้านชาวเมืองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมอยู่ว่า ได้เข้าร่วมสมาทานระบบคุณค่ากระแสหลักแห่งการ “บูชาวัตถุ” และ ระบบ “กระตุ้นกิเลส” ของระบบ “บริโภคแบบสุดโต่ง” เหล่านั้นอย่างเห็นๆอยู่ด้วย

พูดให้สั้นเข้าแบบนักคิดคนสำคัญอย่างนายแพทย์ประเวศ วะสี ก็ต้องบอกว่า  ล้วนตกเป็นทาสทางความคิดของระบบ “เงินเป็นใหญ่ กำไรสูงสุดกันทั้งสิ้น”!

คำ “กุศล” หรือ “กรรม” หรือ “วัฒนธรรม” และท้ายสุด คือ “คุณค่าความเป็นคน” จึง “พัฒนา”

ความหมายเป็นพิกลพิการผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิมแบบไทยๆที่สืบสานดันมาอย่างยาวนานนับพันปี กลายเป็นความหมายใหม่ตามระบบทุนนิยมเสรีที่มีต้นแบบจากจักรวรรดินิยมตะวันตกไปอย่างรวดเร็ว อย่างกว้างขวางลงลึก และ อย่างสิ้นเชิง !

พูดแบบชัดๆตรงๆก็คือ สิ่งปรุงแต่ง “กรรม” ในยุคนี้ก็คือ “เงิน” (คติความเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม”

จึงพังทะลายลง เพราะล้วนเชื่อกันว่า “เงิน” สามารถซื้อ “กรรม” ได้ตามแบบที่ใจชอบ) และ “วัฒนธรรม” ที่จะ “ปรุงแต่ง” คนให้ดูดีมีคุณค่าก็คือ “เงิน” อีกนั่นแหละ (อาหารดี(ของแพง)/เครื่องนุ่งห่มเด่น(มีแบรนด์)/ที่อยู่อาศัยโอ่อ่า(ทันสมัยและอลังการ)/ยารักษาโรคเยี่ยม(แพงที่สุดเพราะบริการเยี่ยม)]

“กฎหมาย”(ที่ต้องแก้ไขกันแบบไม่หยุดหย่อนเพื่อสนองประโยชน์ และ “คุ้มครอง” ผลประโยชน์ทุกด้านของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมืองกลุ่มน้อยที่มีอิธิพลทางการเงินมากที่สุดในสังคมในทันการ)กลายเป็นเครื่องมือสูงสุดเพียงประการเดียวที่มี “อำนาจ” ควบคุมการอยู่ร่วมกันของผู้คน ไม่ใช่ระบบกฎหมาย ร่วมกับ “ระบบคุณค่า” ที่เป็นเหมือน “บรรทัดฐาน” (Norm) เช่น มโนธรรม ความรู้สึกละอายต่อบาป หรือจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรม เหมือนสังคมไทยในอดีตอีกต่อไป

หรือเมื่อถึงวันนี้ สังคมไทยเราพร้อมแล้วที่จะรับรอง สังคมแบบตัวใครตัวมัน?

สังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ความแตกแยกทางสังคม ความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้แบบ “ตัวกูของกูต้องมาก่อน”  

สังคมที่เต็มไปด้วยความคดโกงฉ้อฉลปล้นชิงแบบต่ำช้าสามานย์ที่เรียกให้ดูทันสมัยตามฝรั่งว่า “คอร์รัปชั่น” ของสิ่งที่เรียกกันว่า “นักการเมือง” และ “ข้ารัฐการ” ทุกองค์กร ทุกระดับ   

สังคมที่เต็มไปด้วยความถ่อยสถุลเถื่อนทางวาจาและพฤติกรรม(ไร้ “สัมมา”) ของเยาวชน(ผู้ตื่นตัวเป็นต้นแบบ)  รวมถึงความไร้คารวธรรม และไร้การรับรู้เรื่องกาละเทศะ สังคมที่เต็มไปด้วยยาเสพติด  อาชญากรรม และสังคมที่ส่งเสริมให้คนหมกมุ่นสุดโต่งเรื่องกามารมณ์ในทุกรูปแบบ(เพื่อผลกำไรทั้งของรัฐและเอกชนในรูปแบบต่างๆ)  ฯลฯ

นาทีนี้ จึงรู้สึกคิดถึงท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ ปราชญ์ชาวใต้ท่านนั้นขึ้นมาเป็นพิเศษ !!

และที่คิดถึงมากที่สุดก็คือวาทกรรมสำคัญที่ท่านฝากไว้(แต่พวกที่ความคิดเต็มไปด้วย “มิจฉาทิฏฐิ”ที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับคำ “วัฒนธรรม” เหล่านั้นไม่เคยสนใจที่จะได้ยิน) คือวลีที่ว่า “กุศลปรุงแต่งกรรม วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” นั่นแหละ!!