สถาพร ศรีสัจจัง

มีกลอนบทหนึ่งของท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ ปราชญ์สามัญชน ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่เกาะยอ เมืองสงขลา ,ปูชนียบุคคลด้านการใช้ภาษาไทย และ “เมธีวิจัยอาวุโส” ทางสังคมศาสตร์ ของสกว.  ผู้เขียนหนังสือเล่มสำคัญที่ชื่อ “ทฤษฎีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์” (ที่สำแดงการยืนต้านวิธีวิทยา “ลอกแบบ” จากตะวันตกอย่างสง่างาม) เจ้าของวาทกรรม “กุศลปรุงแต่งกรรม/วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” ที่อยากนำมา “เล่าต่อ” เพราะมีเนื้อหา และ “นัยยะ” ของความเป็นนัก “วัฒนธรรมศึกษา” ที่น่าจะไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับ “ลัทธิการตื่นรู้ใหม่” (Neo-Wokism) อย่างล้ำลึกเฉียบคม                        

กลอนชิ้นนั้นชื่อ “ทักษิณประเทศ” ปรากฏตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร “ทักษิณคดี” ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา สักประมาณช่วงปลายปี 2537 ขออนุญาตนำมาลงให้อ่านกันทั้งบทเพื่อร่วมกันพิจารณาความ  ดังนี้ ::                     

“... เหมือนแต่งนิทานหลานเอ๋ย/ห้วยหนองบึงเคยเพียบผล/พืชผักบัวบาเบียดปน/ปลอดเสียงคนปลาออกุ้งต่อแพน/ที่ปรือกกรกเร้นเป็นเซิงพัก/นกพำนักรังซอนซ่อนแขวน/ค่าน้ำคุณดินดีทั่วแดน/พูนแผ่นทักษิณเป็นถิ่นทอง/วันนี้ถิ่นนี้เป็นไฉน/ข้าวใหม่ปลามันไม่ได้ต้อง/พลิกเดนดินกินไตข้าวน้ำคาวนอง/ห้วยบึงหนองเหือดเฉาหมดเต่าปลา/หมายผักริ้นริมหนองเหมือนทองก้อน/ต้นขี้ใต้ในทอนยากถามหา/แสงหิ่งห้อยใครเห็นเป็นบุญตา/ “น้ำเผล้งหลา” อย่าหมายกรายกลั้วคอ”                        

คำเฉพาะที่เป็นคำปักษ์ใต้แท้ๆในกลอนบทนี้  คนที่ไม่ใช่คนปักษ์ใต้ดั้งเดิม ได้อ่านแล้วก็อาจจะเข้าใจยาก  ยิ่งเด็กปักษ์ใต้รุ่น gen Y, gen z ที่ถูก “สปอยส์” ทางวัฒนธรรม (ทั้งทางภาษาและด้านอื่น)ไปเรียบร้อยโรงเรียนอเมริกันแล้ว โดยสิ่งที่แทรกมากับ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ในรอบกว่า 5 ทศวรรษที่พ้นผ่าน ก็คงยิ่งมึนแบบมืดแปดด้านที่จะเข้าใจและอธิบาย 

พูดให้ชัดก็คือคนรุ่นที่เกิดมาพร้อมกับการมี “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ตั้งแต่ช่วงกึ่งพุทธกาล คือตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 นั่นแหละ ที่คงยากจะเข้าใจ รู้เรื่อง และเห็นคุณค่า!  

นี่เป็นภาพสะท้อนของสิ่งใด?และกำลังบอกใบ้อะไรถึง “ชะตากรรมไ ของสังคม “รากขาด” แบบสังคมไทยในวาระที่ดำรงอยู่นี้?                          

“Theme” (เพื่อให้ดูทันสมัย จึงขอดัดจริตใช้คำนี้)ของกลอนบทนี้น่าจะเป็นเรื่องทำนอง “คนแก่รำพึงถึงความน่าวิตกเกี่ยวกับการเปลี่ยนไปเชิงลบของสังคม” หรืออะไรทำนองนั้น 

ผู้เขียน ปรารภถึงภาพที่ตนประจักษ์อยูเฉพาะหน้าถึง “สิ่งที่เคยเห็นเคยได้ใช้ประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตแล้วหายไป” ถึง “สิ่งที่เคยเห็นได้โดยง่ายแล้วแทบจะไม่ได้เห็นอีก” โดยไม่มีข้อสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะว่า “แล้วจะต้องทำอย่างไร?” (เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว) แต่อย่างใด 

อันนี้ เป็นท่วงทำนองของ “นักปราชญ์” หรือ “กวีที่ดี” (ยุคเก่า?)ที่จะไม่ตัดสินหรือพิพากษาอะไรง่ายๆเพียงเพราะไม่สบใจตน แต่เป็นการนำเสนอ content เพื่อให้คนอ่านได้ “คิดเอง” ว่าสังคมกำลังเผชิญอะไรอยู่ !

ที่หยิบยกบทกวีชิ้นนี้ของท่านอาจารยสุธิวงศ์ขึ้นมาประกอบการอธิบายความหมายวาทกรรม

“กุศลปรุงแต่งกรรม/วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” ของท่านก็เพราะ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ท่านใช้ทุกวิธีการเพื่อ “กระตุ้นสำนึก” ของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องให้ “ตื่นรู้” ว่าการ “ทำลายล้างทางวัฒนธรรม” นั่นแหละคือการทำลายล้างชาติพันธ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง/รัฐชาติใดรัฐชาติหนึ่ง ให้ล่มสลาย และ เป็น “ทาส” ชาติใดชาติหนึ่งหรือต่อระบบใดระบบหนึ่งอย่างแท้จริง!

วาทกรรมสำคัญยิ่งอีกวาทกรรมหนึ่ง ที่ท่านอาจารย์สุธิวงศ์ นำเสนอขึ้นในวงวิชาการเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2520 แบบ “ตีแสกหน้า” สิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” อย่างตรงๆและอย่าง “ตั้งใจกระตุ้น” ให้ “กลุ่มชนชั้นนำ” ในสังคมไทยที่กุมอำนาจในการพัฒนาสังคมได้ตระหนัก ก็คือวาทกรรมที่ว่า :

“ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าเกินกว่าคุณภาพของประชากรไปไม่ได้ และคุณภาพของประชากรมี “วัฒนธรรม”เป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลัง”

อะไรคือ “คุณภาพของประชากร” และ อะไรคือ “วัฒนธรรม” ?

วาทกรรมนี้ดูเหมือนจะมีเสียง “ขานรับ” อยู่บ้างในช่วงทศวรรษดังกล่าว และหลังจากนั้นอีกเล็กน้อย  คือมีการจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ” อย่างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2522 (ในรัฐบาลรัฐประหาร พลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์!) โดยให้ไปสังกัดอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ(ยุคยังเป็นแดนสนธยา?)

ขณะที่อาจารย์สุธิวงศ์เปิดสอนรายวิชา “คติชนวิทยา” และ นำนิสิตลงเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นภาคใต้มาจัดทำเป็น “ห้องวรรณกรรมท้องถิ่น” ตั้งแต่ปี 2511 โน่นแล้ว  และพัฒนาขึ้นเป็น “ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้” ในปีพ.ศ. 2518 โดดเด่นจนล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 เสด็จมาทรงเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2522 และจากการดิ้นรนต่อสู้ในทุกทาง ท้ายสุดหน่วยงานก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” มีฐานะเทียบเท่า “คณะ” หนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ในปีพ.ศ. 2523 นับเป็นหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่ “ครบวงจร” แห่งแรกของประเทศไทย (จัดเก็บข้อมูล/ศึกษาวิเคราะห์/ส่งเสริมเผยแพร่/จัดทำพิพิธภัณฑ์ และผลิตบุคลากรเฉพาะด้านทางวัฒนธรรมในระดับบัณฑิตศึกษาและระดับประกาศนีบัตร)

และแล้ว ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2545 ก็ได้มีการจัดตั้ง “กระทรวงวัฒนธรรม” ขึ้นอีกครั้ง หลังจากกระทรวงชื่อดังกล่าวนี้ถูกยุบไปต้้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 โน่นแล้ว  (แต่…โปรดลองไปดู “งบประมาณของกระทรวงนี้ดูเถิด ว่าแต่ละปีจะได้รับงบประมาณสักกี่เปอร์เซ็นต์จากงบรวมของประเทศ!)

อย่างนี้แล้ว “วาทกรรม” ที่ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เคยนำเสนอไว้ที่ว่า “วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดคุณภาพประชากร” และ “ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าเกินกว่าคุณภาพของประชากรไปไม่ได้” จะสามารถบรรลุได้ละหรือ?

หรือชนชั้นนำที่ทรงอำนาจ พรรคการเมืองที่แปรรูปมาเป็น “รัฐบาล” ทุกยุคทุกสมัยของประเทศนี้

จะไม่สามารถเข้าใจหรือไม่เคยได้ยินวาทกรรมดังกล่าวนี้กันเลย

แล้วพวกเขาจะเข้าใจวาทกรรม “กุศลปรุงแต่งกรรม/วัฒนธรรมปรุงแต่งคน”ที่ดูจะลึกซึ้งยิ่งกว่าได้อย่างไรกันเล่า?!!