เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
“รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” คือคำกล่าวในปาฐกถาของอับราฮัม ลินคอล์น ที่เกตติสเบิร์ก เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 1863 หรือ 160 ปีก่อน ในตอนปลายของสงครามกลางเมืองสหรัฐ
การเลิกทาสเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งทหารและประชาชนไปหลายแสนคน
ความขัดแย้งแตกต่างระหว่างรัฐทางเหนือกับทางใต้ในสหรัฐฯปรากฏชัดตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มจากปลายศตวรรษที่ 18 พร้อมกับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การคมนาคม การขนส่งทางรถไฟ เรือกลไฟ การสื่อสาร หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ ที่กระจายข้อมูลข่าวสารความรู้
สังคมอเมริกันภาคเหนือเปลี่ยนไปแบบก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นสังคมอุตสาหกรรม สังคมเมืองที่เริ่มขยายตัว วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ขณะที่สังคมทางภาคใต้ยังอนุรักษนิยม ยังเป็นสังคมเกษตรกรรม ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฝ้าย ต้องการแรงงานมาก ทาสจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการผลิตแบบดั้งเดิม
การศึกษาและการสื่อสารผ่านสื่อ หนังสือพิมพ์ วรรณกรรม ทำให้ฝ่ายเหนือมีทัศนคติต่อต้านการค้าทาส เห็นว่าการใช้ทาสผิดศีลธรรม การต่อต้านแรงงานทาสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สงครามกลางเมืองจบลงโดยชัยชนะของฝ่ายเหนือ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเป็นสังคมที่ก้าวหน้ากว่าทางการศึกษาและเทคโนโลยี มีผู้อ้างคำกล่าวของอับราฮัม ลินคอล์นที่ว่า “เราชนะเพราะโทรเลข” ที่ทำให้การสื่อสารรวดเร็วกว่าวิธีแจ้งข่าวแบบโบราณของทางใต้
ปาฐกถาของอับราฮัม ลินคอล์น ตอนปลายสงครามกลางเมือง ล้วนกล่าวถึงสมานฉันท์ ความสามัคคี การก้าวข้ามความขัดแย้ง และแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย รัฐบาลหรือการปกครองโดยประชาชน (government by people) และหลักการว่าประชารัฏฐาธิปัตย์ (principle of popular sovereignty)
ซึ่งแปลว่า อำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาลมาจากการเห็นชอบของประชาชน คล้ายกับสัญญาประชาคมของรุสโซ เขาเชื่อว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และการตัดสินใจต่างๆ ต้องเป็นไปในกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม (free and fair)
เขาเห็นว่า การมีทาสเป็นเรื่องผิดศีลธรรม ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและความเท่าเทียม เขายืนยันในนิติรัฐ หลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญ เชื่อในหลักความเท่าเทียมในโอกาส ที่ทุกคนต้องมีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่เห็นด้วยกับการมีชนชั้นในสังคม
ในปาฐกถาที่เกตติสเบิร์ก เขาบอกว่า “บรรพบุรุษของเราได้สร้างชาติบนทวีปนี้จากการกู้อิสรภาพและด้วยความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” “สงครามกลางเมืองเป็นบททดสอบว่า ประเทศชาตินี้จะคงทนในหลักการนี้หรือไม่ และคนที่ตายในสงครามกลางเมืองก็ตายเพื่อปกป้องหลักการนี้”
เขาย้ำตอนท้ายว่า “พวกเขาจะไม่ตายเปล่า ประเทศชาตินี้ โดยความเมตตาของพระเจ้า จะเกิดใหม่ในเสรีภาพ และรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่หายไปจากโลกนี้”
อับราฮัม ลินคอล์น (1809-1865) ไม่ได้อวดอ้างชัยชนะ และการแก้แค้น แต่การคืนดี การสร้างชาติ เขาถูกยิงเสียชีวิตไม่กี่วันหลังจากที่ภาคใต้ยอมแพ้
เขาได้รับการยกย่องเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ที่เข้าสู่อำนาจในยามบ้านเมืองวิกฤติ แตกแยก จนเกิดสงครามกลางเมือง เขารักษาความเป็นเอกภาพของสหรัฐไว้ได้ เลิกทาส ทำให้คนผิวดำได้เสรีภาพในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกับคนอื่น
อับราฮัม ลินคอล์น เกิดในครอบครัวชาวนายากจนที่เคนทักกี เขาไม่ชอบทำงานในฟาร์ม เขาชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียนรู้ ชอบฟังคนอื่น เข้าเรียนในโรงเรียนรวมตลอดชีวิตเพียง 12 เดือนเท่านั้น เขาบอกว่า “สิ่งที่ผมอยากรู้อยู่ในหนังสือ เพื่อนดีที่สุด คือผู้ที่ให้หนังสือที่ผมยังไม่ได้อ่าน”
เขาไม่เคยเข้ามหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนกฎหมาย เรียนเองจากตำรา ศึกษาคดีต่างๆ จนได้ใบอนุญาตทำอาชีพทนายความเมื่ออายุ 25 ร่วมงานกับทนายความท้องถิ่นคนหนึ่ง จนมีชื่อเสียง ใครๆ อยากใช้บริการ เขาฝึกการเขียน การพูด ด้วยการเล่าเรื่อง การพูดในชุมชน ในโบสถ์ จนกลายเป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์
อับราฮัม ลินคอล์น ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกอย่างทันที เขาล้มเหลวในการงาน การเมืองหลายครั้ง แต่ไม่เคยท้อ ยืนยันคำกล่าวที่อาจไม่ใช่ของเขาที่ว่า “ความยิ่งใหญ่ของคนไม่ใช่ไม่เคยล้ม แต่ล้มแล้วลุกต่างหาก”
เขาเชื่อมั่นในความถูกต้อง “ปัญหาไม่ใช่พระเจ้าไม่อยู่ข้างเรา แต่เราไม่อยู่ข้างพระเจ้า ซึ่งถูกต้องเสมอ” และว่า “คุณหลอกบางคนได้ทุกครั้ง หลอกทุกคนได้บางครั้ง แต่คุณหลอกทุกคนทุกครั้งไม่ได้”
แม้การเลิกทาสและสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯสิ้นสุดลงมา 160 ปี แต่ประเทศนี้ก็ยังต้องต่อสู้กับความแตกแยกแตกต่าง การเหยียดผิว ความไม่เท่าเทียม ความรุนแรง การฆ่ากันแบบตายหมู่แทบจะรายวันมาจนถึงวันนี้ ที่มีผู้นำประเทศถูกกล่าวหาว่ายุยงให้กลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้าไปในรัฐสภา หัวใจประชาธิปไตยของชาติ
สหรัฐฯร่ำรวยทางเศรษฐกิจ เป็นมหาอำนาจที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก แต่คนในประเทศนี้กว่า 30 ล้านไม่มีหลักประกันสุขภาพ มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ตามถนนและที่สาธารณะมากขึ้นทุกวันในเมืองใหญ่ อยู่ได้ด้วยอาหารทานบุญ และเมตตาจิตของเพื่อนมนุษย์ องค์กรการกุศล
ไม่ใช่โดยระบบการจัดการของรัฐบาล แม้ได้รับเลือกตั้งมา แต่ในทางปฏิบัติดูจะไม่ได้เป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างที่อับราฮัม ลินคอล์ล พูดไว้อย่างสวยงาม
เมืองไทยเลือกที่จะเป็น “เสรีนิยมประชาธิปไตย” และต่อสู้มายาวนาน เพื่อให้ได้รัฐบาล การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
และคงต้องสู้กันไปอีกนาน เพื่อให้ “การเลิกทาส” ยุคใหม่แบบไทยได้เกิด ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนจากการถูกครอบงำจากอำนาจ การผูกขาดทางเศรษฐกิจ มีเสรีภาพ ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง