ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ดอกผลของงานเขียน

1.ดอกผลจากชีวิตในเหมือง

จากการตรากตรำทำงานในเหมืองแร่เป็นเวลา 4 ปี ชีวิตในเหมืองอันหนักหนาสาหัสได้หล่อหลอมอาจินต์ ปัญจพรรค์ให้กลายเป็นคนที่แกร่งและมีความทระนง  ประสบการณ์อันโชกโชนในเหมือง ได้จุดไฟน้ำหมึกของเขาที่แทรกซ่านอยู่ในจิตวิญญาณให้พร่างโพลน จนกระทั่งโชนไสวขึ้น

เมื่อหันหลังให้เหมืองแร่ กลับกรุงเทพฯ อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงตั้งเข็มชีวิต มุ่งมั่นกับการเขียนเพียงอย่างเดียว บอกตัวเองว่าจะต้องทำให้สำเร็จ ไม่เที่ยวเตร่เหมือนแต่ก่อน แม้ว่าส่งทั้งเรื่องสั้นและไปตามนิตยสารต่าง ๆ มากมาย บางฉบับไม่ได้ค่าเรื่องแม้แต่บาทเดียว ขอเพียงให้เรื่องของตนเองได้ลง มีชื่อปรากฏบนหน้ากระดาษ...

“ก้มหน้าเขียน... เขียนบนกระดาษฟุลสแก้ปที่เขาทำไว้ขายนักเรียน เขียน...เขียน เขียน ตั้งเช้าจนดึกงัวเงีย เพื่อส่งไปลงตะกร้าของบรรณาธิการทั่วกรุงเทพฯ ฟลุ้คบ้างได้ลง บ้างก็ลงฟรี”

จากความมุ่งมั่นอันเด็ดเดี่ยวในวันนั้น ในที่สุด ดอกผลจากการเขียนเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ก็เบ่งบานตามกาลเวลา เขาจึงรวบรวมเรื่องสั้นมาพิมพ์รวมเล่มเองในนาม “สำนักพิมพ์ โอเลี้ยง 5 แก้ว” ขอเท้าความสักเล็กน้อยว่า ก่อนจะตั้ง “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว “ ปี 2507 มีผลงานรวมเล่ม

พิมพ์ออกมาแล้วโดยสำนักพิมพ์อื่นคือ รวมเรื่องสั้น “ลุยทะเลคน” เล่ม 1-2 โดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า และนวนิยายเรื่อง “เลือดในดิน”โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

เมื่อตั้ง “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว” ขึ้นในปี 2508  จึงเริ่มต้นพิมพ์เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ 2 เล่มคือ “ตะลุยเหมืองแร่”และ “เหมืองน้ำหมึก” ตามด้วย “ธุรกิจบนขาอ่อน” ซึ่งเป็นบทความและสารคดีชีวิต เห็นชื่อเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องโป๊หรอกนะ ยี่ห้อ “อาจินต์ ปัญจพรรค์”ไม่มีเด็ดขาด เป็นกลวิธีตั้งชื่อดึงดูดใจคนอ่านได้เก่งมาก เป็นทั้งนักเขียนและบรรณาธิการฟ้าเมืองไทยนี่นา

ก่อนจะกลับมาพิมพ์ชุดเหมืองแร่อีก 2 เล่มคือ เสียงเรียกจากเหมืองแร่(รวมเรื่องสั้น)และสวัสดีเหมืองแร่(รวมเรื่องสั้น)

ปลายปี 2509 ถึงปี 2510 จัดพิมพ์งานประเภทอื่นและสลับด้วยงานเขียนชุดเหมืองแร่คือ ตะลุยอเมริกา-ผ่าตัดรัสเซีย(สารคดี) อาจินต์โชว์(เรื่องสั้น,สารคดี,บทความ,จดหมาย) เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน(เรื่องสั้น,สารคดี,บทความ,จดหมาย)  ใต้แผ่นดิน(นวนิยายเกี่ยวกับเหมืองแร่) และเดี่ยวเหมืองแร่ (รวมเรื่องสั้น) คั่นด้วย “รอบชีวิต”(เรื่องสั้น,บทความ,บทสัมภาษณ์) ตามด้วยนวนิยายเรื่อง “ในเหมืองแร่มีนิยาย”

คั่นด้วยการพิมพ์เรื่อง “ลูกฝรั่งช่างพูด” เป็นเรื่องแปลของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่ดังกระฉ่อน ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งชาวบ้านที่เป็นแฟนหนังสือต่างก็ชื่นชอบ

ปี 2511 ถึงปี 2514 พิมพ์ทั้งงานชุดเหมืองแร่และงานประเภทอื่นดังนี้ แร่นอกเหมือง(รวมเรื่องสั้น),เหมืองมนุษย์(รวมเรื่องสั้น),แผ่นดินแร่(รวมเรื่องสั้น),นักเลงเหมืองแร่(รวมเรื่องสั้น),ตะลุยรัสเซีย แถมด้วย ตลกรัสเซีย(สารคดี),โป๊หรือไม่ ประชัน ตลกรัสเซีย(เรื่องแปล),จากเหมืองแร่สู่เมืองหลวง(รวมเรื่องสั้น)

ระหว่างปี 2515 ถึงปี 2516 พิมพ์งานเขียนชุดเหมืองแร่และงานประเภทอื่นสลับกันเช่นเดิมดังนี้ ขุดเหมืองจากผู้หญิง(รวมเรื่องสั้น),คอมฯจ๋า รักฉันไหม(ข้อเขียนให้ข้อคิด เมื่อจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป เปลี่ยนชื่อเป็น “ปรัชญาข้างถนน”),จุฬาฯปฏิเสธข้าพเจ้า(รวมเรื่องสั้น),เจ้านกขมิ้นจากเหมืองแร่(รวมเรื่องสั้น)

ส่วนปี 2517 เว้นการจัดพิมพ์  มาพิมพ์อีกครั้งในปีถัดมา เมื่อมีเสียงเรียกร้องของคนอ่านที่มีต่อหนังสือชุดเหมืองแร่ อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงนำงานเขียนชุดเหมืองแร่มาจัดหมวดหมู่ใหม่ แยกแต่ละเล่มเป็นเหตุการณ์เฉพาะ ชุดนี้พิมพ์ออกมาทั้งหมด 9 เล่ม ระหว่างปี 2518 ถึงปี 2519 พาดปกว่า

“เหมืองแร่ฉบับเรียงตัว” มีชื่อปกดังนี้ นายฝรั่ง ,ไอ้ไข่ ,กรรมกรสไตร้ค์, เหตุเกิดในโรงโกปี้ ,มวยเหมืองแร่, หมืองแร่ 20 ปีก่อน เท็มโก้ ,เหตุเกิดในออฟฟิศเหมืองแร่ ,คนด้นเหมืองแร่ ,ลาก่อนพี่จอน

ในปี 2520-จนถึงปี 2526 ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ในปีสุดท้ายของ “สำนักพิมพ์โอเลิ้ยง 5 แก้ว” มีดังนี้ กลับไปสู่เหมืองแร่(รวมเรื่องสั้น),ผู้ชนะคือแผ่นดิน(รวมเรื่องสั้น),ร่ายยาวแห่งชีวิต(สารคดีชีวิตในวัยเด็ก),วัยบริสุทธิ์(สารคดีชีวิตในวัยเด็ก),ปรัชยาไส้(ข้อเขียนให้ข้อคิด),ราษฎรหางเครื่อง(รวมเรื่องสั้น),แม่น้ำ(รวมเรื่องสั้น),แม่น้ำยามศึก(รวมเรื่องสั้น)

รวมเรื่องสั้น “กลับไปสู่เหมืองแร่”และนวนิยายเรื่อง “ผู้ชนะคือแผ่นดิน”ที่กล่าวไว้ข้างต้น  อาจินต์ ปัญจพรรค์มาเขียนในภายหลัง เมื่อกลับไปเยี่ยมเหมืองแร่อีกครั้งในปี 2518 โดยเขียนลงฟ้าเมืองไทยเป็นตอน ๆ เมื่อจบสมบูรณ์แล้ว จึงนำมาพิมพ์รวมเล่มในชื่อดังกล่าว เล่มแรกพิมพ์ในปี 2520 ส่วนเล่มที่สอง พิมพ์ในปี 2521

สำหรับเรื่อง“ร่ายยาวแห่งชีวิต”และ“วัยบริสุทธิ์” เมื่อพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 นำมารวมเป็นเล่มเดียวกันในชื่อ “ร่ายยาวแห่งชีวิต  ส่วน“แม่น้ำและ “แม่น้ำยามศึก” เมื่อพิมพ์ครั้งที่ 2 นำมารวมเป็น เล่มเดียวกันในชื่อ “แม่น้ำยามศึก”

หลังจากไม่มี “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว”แล้ว ผลงานเรื่องอื่น ๆ รวมทั้งชุดเหมืองแร่ได้จัดพิมพ์โดยหลายสำนักพิมพ์ด้วยกันคือ ปี 2528 เหยื่อกรุงเทพฯ(นวนิยาย) -สำนักพิมพ์กนิษศร ปี 2529 คนเถื่อนกทม.(รวมเรื่องสั้น) สำนักพิมพ์เริงรมย์

ในปี 2530 นี้ แน่งน้อย ปัญจพรรค์ ผู้เป็นภรรยาตั้งสำนักพิมพ์เริงรมย์ขึ้น ได้นำผลงานชุดเหมืองแร่มาพิมพ์ใหม่อีก  4 เล่มคือ ตะลุยเหมืองแร่,เสียงเรียกจากเหมืองแร่,เดี่ยวเหมืองแร่และนักเลงเหมืองแร่ ซึ่งถือว่าเป็นการพิมพ์ชุดเหมืองแร่ครบถ้วนเป็นครั้งที่ 3

ปี 2531 นิสิตเถื่อน(รวมเรื่องสั้น)-สำนักพิมพ์เรจีนา ปี 2533 เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง(นวนิยาย) เจ้าหนู(นวนิยาย) และยักษ์ปากเหลี่ยม(สารคดี) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมึกจีน ปี 2535 เหมืองทองแดง(นวนิยาย)-สำนักพิมพ์หมึกจีน ปี 2536 สำนักพิมพ์หมึกจีนได้นำเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ระหว่างปี 2497-2526  มาจัดพิมพ์ใหม่เป็น “เหมืองแร่ ฉบับสมบูรณ์” รวม 2 เล่มเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นการพิมพ์ชุดเหมืองแร่ครั้งที่ 4

ปี 2537 การหลงทางอันแสนสุข(ข้อเขียน)-สำนักพิมพ์กล้วยไม้ ปี 2539 สนิมนา(นวนิยาย)-สำนักพิมพ์มติชน ปี 2540 นางเอกหลังบ้าน(นวนิยาย 2 เล่มจบ)-สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ปี 2541 บอมบ์กรุงเทพฯ(สารคดี)-สำนักพิมพ์มติชน ปี 2543 นางฟ้าตกวิมาน(นวนิยาย)-สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2543  ปี 2544 โอ้ละหนอน้ำหมึก(ข้อเขียน)-สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2543 ปี 2545

วันดวลเหล้า(รวมเรื่องสั้น)-สำนักพิมพ์แมวคราว ปี 2548 หอเกียรติยศ(สารคดีชีวิตของนักเขียนไทย 30 คน)-สำนักพิมพ์ณ บ้านวรรณกรรม สำหรับเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ได้มีการจัดพิมพ์อีกนับสิบครั้งโดยสำนักพิมพ์มติชน

 

โดยเฉพาะการจัดพิมพ์เมื่อปี 2548 มีทั้งปกอ่อนและปกแข็ง บรรจุกล่อง มีลายเซ็นจริงทุกกล่อง ยังไม่รวมกับชุดปกอ่อนที่อาจินต์ ปัญจพรรค์นั่งเซ็นชื่อให้สด ๆ ให้กับคนอ่านที่รอคิวยาวตั้งแต่บ่าย 3 จนถึง 3 ทุ่ม หลังจากมีข่าวการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่”โดยจิระ มะลิกุล ก่อนจะออกฉายราวเดือนกว่า

จนกระทั่งปี 2566 ได้จัดพิมพ์เรื่องสั้นเกี่ยวกับเหมืองแร่ครั้งใหม่ขึ้น โดยสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด ชื่อรวมเรื่องสั้น“เหมืองแร่ ฉบับสมบูรณ์” เล่ม 1และเล่ม 2  ซึ่งมีเรื่องสั้นทั้งหมด 143 เรื่อง

ในปีเดียวกันนี่เอง นวนิยายเกี่ยวกับเหมืองแร่ได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่ โดยสำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว ชื่อหนังสือ “ในเหมืองแร่มีนิยาย”โดยมีแน่งน้อย ปัญจพรรค์ เป็นที่ปรึกษา วีรยศ สุขสำราญทิวาเวทย์ รับหน้าที่บรรณาธิการและผู้จัดการสำนักพิมพ์ ไม่มีวางตามร้านหนังสือ ขายทางเฟซบุ้คตามยุคสมัย

“ในเหมืองแร่มีนิยาย” เป็นการรวบรวมนวนิยายเกี่ยวกับเหมืองแร่ทั้ง 6  เรื่อง ที่เขียนขึ้นระหว่างปี  2490-2534  มาไว้ในเล่มเดียวกัน ประกอบด้วย บ้านแร่,ในเหมืองแร่มีนิยาย,แผ่นดินแร่,เลือดในดิน,ใต้แผ่นดิน และ เหมืองทองแดง โดยจัดตามลำดับเวลาของการเขียน เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการทางการเขียนของอาจินต์ ปัญจพรรค์

นอกจากนี้สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้วยุคใหม่ ยังจัดพิมพ์หนังสือ “คมอาจินต์” ซึ่งรวบรวมคำคมของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่กระจัดกระจายในงานเขียนต่าง ๆ จำนวน 500 คำคม หนังสือสำคัญอีกเล่มคือ “เก็บตกจากเหมืองแร่” ซึ่งเป็นเบื้องหลังงานเขียนเหมืองแร่และเบื้องหลังชีวิตของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ถูกถูกรีไทร์จากมหาวิทยาลัย

จนกระทั่งไปอยู่เหมืองแร่เกือบ 4 ปี ก่อนจะกลับมาเขียนหนังสือ เรียบเรียงโดยวีระยศ สุขสำราญทิวาเวทย์ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจินต์ ปัญจพรรค์ หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมงานเขียนทุกประเภท ทั้งเรื่องสั้น(ต้นร่างเหมืองแร่) ความเรียง บทความ บทสารคดีวิทยุเรื่องเหมืองแร่ เรื่องท่องเที่ยว บทละคร ภาพถ่ายสำคัญและภาพต้นฉบับร่างเหมืองแร่และต้นร่างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ ขายได้สบาย แบบวิ่งฉิวปลิวลมเช่นเดียวกับเล่มอื่นของสำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว

 

“ตัวละครที่ต่ำต้อยยากไร้ เป็นอมตะวรรณกรรมบ่อยกว่าตัวที่เป็นเศรษฐี”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)