วันนี้เป็นวันสุดท้ายของวันหยุดยาวต่อเนื่อง 6 วัน การเมืองไม่ได้หยุดพักความร้อนแรงแต่อย่างใด  สถานการณ์เดือนสิงหาคมนั้นกลับแหลมคมยิ่ง

โดยเฉพาะกำหนดการเดินทางกลับประเทศ หลังหลบหนีคดีอยู่ในต่างแดนกว่า 15 ปี ของ อดีตนายกรัฐมนตรี  นายทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่ถูกตีความว่ายึดโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ

หากอ่านจากมุมมองของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ มองฉากทัศน์การเมืองไทย ที่นายทักษิณเตรียมกลับบ้านนั้น อาจสร้างความไม่สบายใจกับหลายฝ่าย

โดยนายจตุพร มองว่า เมื่อนายทักษิณกลับมาอารมณ์ประชาชนจะคุกรุ่นไม่พอใจกับการตระบัตสัตย์ย่อมทนไม่ได้และจะออกมาเต็มถนน หากเกิดการเผชิญหน้ากับฝ่ายไม่เอาแก้ไข ม.112 ถึงขั้นปะทะกันขึ้น ดังนั้น สภาพเช่นนี้ย่อมไม่แตกต่างเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนเกิดการฆ่ากันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

“ทักษิณ เคยบอกต้องการกลับบ้านอย่างเท่ๆ แต่วันนี้ประกาศกลับบ้านในสภาพพรรคจะตระบัดสัตย์ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ดังนั้น ประชาชนที่บูชาทักษิณ ดุจเป็นเทพเจ้านั้น มาในวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป ความรักที่เคยให้จึงถูกหารไปเป็นด้อมส้มบางส่วน แต่ความชังจากฝ่ายตรงข้ามยังคงมีอยู่ตามเดิม

...การกลับมา พร้อมกับประโคมให้คนไปรับที่สนามดอนเมือง ประชาชนที่ชิงชังการข้ามขั้ว ไม่พอใจการตระบัดสัตย์ก็จะออกมาเต็มถนนเช่นกัน อาจส่งผลลัพธ์ให้ฝ่ายเชียร์กับซีกมารอรับเดือดระอุถึงกับพวกใจร้อนยกกำลังเข้าห้ำหั่นกันได้"

นี่คือสิ่งที่ นายจตุพรเป็นกังวล ว่า ประเทศไทยจะเดินเข้าสู่ความขัดแย้งใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น มีชนวนเหตุมาจากการเดินทางกลับประเทศของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการที่เคยถูกขบวนการนักศึกษาขับไล่ออกนอกประเทศ เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และลี้ภัยอยู่ในต่างแดน ก่อนจะบวชเป็นสามเณรและเดินทางกลับมา

และในวันที่เหลืองโรยรา และแดงบางส่วนเปลี่ยนสีเป็นส้ม นับเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายว่า ฉากทัศน์การเมืองที่ นายจตุพรมองข้ามช็อตไปนั้น อาจจะเกิดขึ้น หรือมีความพยายามทำให้เกิดขึ้นหรือไม่ แต่สำหรับประเทศไทยที่เพิ่งโงหัวขึ้นมาได้จากพิษโควิด และวิกฤติสงครามกระทบราคาพลังงาน เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้กงล้อประวัติศาสตร์หมุนกลับมาซ้ำรอย