ทวี สุรฤทธิกุล

ว่ากันว่าคนรุ่นใหม่ไม่ว่าในประเทศไหน ๆ ก็ไม่ฟังผู้ใหญ่ ดื้อรั้น และไม่กตัญญูรู้คุณ

หลายวันก่อนได้อ่านไลน์เกี่ยวกับเรื่องราวของคุณยายชาวจีนคนหนึ่ง(คงมีคนแปลมา) พูดถึงลูกสาวที่ไปทำงานอยู่สหรัฐอเมริกาและแต่งงานกับหนุ่มจีนด้วยกัน ทั้งคู่คลอดลูกจนโตกำลังจะเข้าโรงเรียนแล้วขอให้แกไปช่วยเลี้ยง พอดีตัวแกก็เพิ่งเกษียณ เลยอาสาและกะว่าคงไปเพียงเลี้ยงชั่วคราว พอไปถึงแกต้องทำงานบ้านทุกอย่าง นอกเหนือจากการเลี้ยงหลานตั้งแต่เช้าจนเข้านอน ทั้งยังต้องไปส่งและไปรับที่โรงเรียน เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับแก เพราะภาษาอังกฤษก็ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง ส่วนพูดนั้นไม่ได้เลย ส่วนมากต้องเขียนหรือจะต้องไปสื่อสารกับใครต่อใคร ดังนั้นส่วนใหญ่แกจึงไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหน

ลูกสาวและลูกเขยก็ออกไปทำงานแต่เช้า กว่าจะกลับก็ค่ำมืด ไม่มีเวลาพูดคุยกันมาก รวมถึงที่พูดกับลูกของตัวเองนั้นด้วย แกรู้ว่าผัวเมียคู่นี้รับอุปการะเด็ก ๆ ในอาฟริกาผ่านมูลนิธิแห่งหนึ่งไว้ด้วย พอมีโอกาสแกก็บ่นว่าลูก ๆ น่าจะช่วยดูแลญาติ ๆ ที่อยู่เมืองจีนให้ดี เพราะฝ่ายลูกเขยนั้นก็มีพ่อแม่อยู่ที่เมืองจีนเหมือนกัน แต่ทั้งลูกเขยและลูกสาวก็ตอกกลับว่า คนในอาฟริกาต้องการความช่วยเหลือมากกว่า ทำให้แกรู้สึกเสียใจ เพราะธรรมเนียมจีนยึดถือเรื่องความกตัญญูนั้นมาก วันหนึ่งแกจึงขอกลับจีน โดยอ้างว่าต้องกลับไปแก้ปัญหาบางอย่าง แกรู้สึกเสียใจมาก แต่ก็ต้องตัดใจที่จะต้องปล่อยให้ลูกสาวรับผิดชอบครอบครัวร่วมกับลูกเขยนั้นเองต่อไป

เรื่องนี้บางท่านอาจจะมองว่าเป็นแค่เรื่องของสังคมสมัยใหม่โดยทั่วไป แต่ถ้าจะมองให้เป็นประเด็นทางการเมือง อย่างที่หลาย ๆ คนบอกว่า คนรุ่นใหม่ชอบขัดแย้งกับคนรุ่นเก่า อาจจะต้องอธิบายให้เห็นภาพชัด ๆ อีกสักหน่อย  นั่นคือเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “โลกทัศน์” กับ “อัตทัศน์” คือ “การมองโลก” กับ “การมองตนเอง” ซึ่งคนทั้งสองวัยนี้มองไม่เหมือนกัน

 คนรุ่นเก่ามองโลกในเชิงวัฒนธรรมประเพณี อะไร ๆ ก็ต้องบอกว่าประเพณีเป็นมาแบบนั้น วัฒนธรรมเป็นอยู่อย่างนี้ พร้อมกับมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่ของวัฒนธรรมประเพณีเหล่านั้น คือรวมโลกส่วนตัวเข้าด้วยกันกับโลกของส่วนรวม ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะแยกเรื่องส่วนตัวออกจากโลกภายนอก ภาษาการเมืองเรียกการแยกตัวนี้ว่า “เสรีภาพ” หรือ “ความเป็นตัวของตัวเอง” นั่นเอง

เสรีภาพเกิดขึ้นก็ด้วยการต่อสู้กับความคร่ำครึของวัฒนธรรมการปกครองแบบโบราณ ที่ชอบกดขี่และเอาเปรียบผู้คน นั่นก็คือการต่อสู้กับระบอบศักดินาที่เกิดขึ้นในยุโรปมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 - 12 หรือเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว เพราะระบอบศักดินาที่นำโดยกษัตริย์ ร่วมกับขุนนางที่ร่วมกันแสวงหาประโยชน์เอาจากราษฎร รวมถึงพวกพระที่มีชีวิตอันสุขสบาย ได้กอบโกยและเสวยสุขเรื่อยมา กระทั่งในประเทศอังกฤษราษฎรก็ลุกฮือผ่านขุนนางที่เห็นแก่ราษฎร บังคับให้กษัตริย์ต้องลงนามที่จะไม่กดขี่และเอาเปรียบราษฎร จากนั้นก็พํมนาระบบการปกครองแบบตัวแทนและระบอบรัฐสภาขึ้นในอังกฤษ ซึ่งสิ่งที่ราษฎรทั้งหลายบอกว่ากษัตริย์ต้องมอบให้แก่ราษฎรทุกคนนั้นก็คือ “เสรีภาพ” นั่นเอง

เสรีภาพได้กลายเป็น “อาวุธ” ที่บรรดาคนที่ต่อสู้กับการกดขี่ใช้ฟาดฟันกับ “อำนาจรัฐ” นักคิดนักปราชญ์ทั้งหลายก็นำเรื่องเสรีภาพนี้เผยแพร่และสร้างผสานเข้ากับลัทธิการเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่เสรีนิยมไปจนถึงสังคมนิยมบางประเภท นัยว่าเป็นยาวิเศษที่จะทำให้ผู้คนอยู่ดีกินดีและมีความสุขโดยสมบูรณ์ จากนั้นจึงเกิดการปฏิวัติทั้งในทวีปอเมริกาแลยุโรป ดังเช่นการเกิดขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1776 และ 1789 ตามลำดับนั้น ทำนองเดียวกันกับการเกิดขึ้นของบรรดารัฐเอกราชหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง ที่ใช้คำว่า “อิสรภาพ” ซึ่งก็คือ “เสรีภาพของประชาชาติ” มาต่อสู้และเรียกร้องเอากับประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย รวมถึงที่ใช้ต่อสู้กับมหาอำนาจที่กดขี่คุกคามชาติเล็ก ๆ นั้นด้วย

ดังนั้น “เสรีภาพ” จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ของความเป็นมนุษย์และชัยชนะของผู้คน โดยถ้าที่ใดมีการกดขี่ ก็จะมีการชูคำว่าเสรีภาพนี้ขึ้นอย่างโดดเด่น เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ที่ลูก ๆ มักจะนึกว่าพวกเขานั้นถูกพ่อแม่หรือผู้ใหญ่กดขี่มาโดยตลอด ไปจนถึงในระดับประเทศที่คนรุ่นใหม่ที่อาจจะเพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง ก็คิดว่าตัวเองยังมีอำนาจน้อย ก็เพราะเป็นด้วยคนรุ่นเก่านั้นครองครองอำนาจไว้ทั้งหมด ไม่ยอมปล่อยอำนาจ ทั้งยังสืบทอดอำนาจให้อยู่แต่ในจำเพาะกับพวกคนรุ่นเก่าด้วยกันเท่านั้น

เสรีภาพจึงเป็นทั้งโลกทัศน์และอัตทัศน์ของคนรุ่นใหม่ ที่มองโลกอย่างไม่ยอมอยู่ใต้การยึดครองของใคร และพยายามจะสร้างโลกที่เป็นของพวกเขาเองเสมอมา

โลกของแฟชั่นและวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดก็เป็นด้วยฝีมือของคนรุ่นใหม่ อย่างผู้เขียนเองที่มีอายุ 60 กว่า ก็ผ่านยุคร็อคแอนด์โรล ฮิปปี้ ดิสโก้ พั๊งค์ มาจนถึงฮิปฮอบนี้ เสื้อผ้ากางเกงการแต่งกายของวัยรุ่นหญิงชายก็เปลี่ยนไปโดยตลอด 60 กว่าปีนั้น นั่นคือการใช้เสรีภาพให้กับตัวตนของพวกเขา ซึ่งก็มีทั้งคนที่ยอมรับและไม่ยอมรับ แต่ในที่สุดแฟชั่นและวัฒนธรรมสมัยใหม่เหล่านั้นก็เป็นอยู่แค่ชั่วคราวและเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงที่เกิดขึ้นใหม่และตายไปโดยตลอด

ผู้เขียนจึงไม่ค่อยเป็นห่วง “พฤติกรรมทางการเมือง” ของคนรุ่นใหม่ เพราะตัวผู้เขียนเองก็ผ่านมาทั้งเผด็จการโหด “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” 3 ทรราชย์ “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ 2535 สงครามสีเหลืองแดง ม็อบ กปปส. มาจนถึง 3 นิ้ว และ ม.112 ในทุกวันนี้ ก็มองเห็นแค่เป็นวัฎจักรทางสังคมอย่างหนึ่ง คือ “เกิดมาแล้วก็เปลี่ยนไป เกิดได้ก็ดับได้ และเกิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ”

ปัญหาของคนรุ่นใหม่จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา หรือถ้าเกิดขึ้นมาได้มันก็ดับไปได้เช่นกัน