เสือตัวที่ 6
ประวัติศาสตร์ยุคสมัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐ ถูกใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการต่อสู้กับรัฐเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นอิสระในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่ โดยใช้บันทึกทางประวัติศาสตร์เพียงส่วนหนึ่งหรือตีความเหตุการณ์ในอดีตในแง่มุมเดียวที่บ่งชี้โน้มน้าวไปในทางรุนแรงจากรัฐผู้ปกครองในขณะนั้นอย่างไม่เป็นธรรม อันเป็นการตีความเหตุการณ์อดีตให้เกิดความรู้สึกเครียดแค้นและเกลียดชังที่เรียกกันว่าประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล เพื่อบิดเบือนภาพจำในอดีตและปลุกเร้าโหมกระพือความขัดแย้งเกลียดชังคนที่แตกต่างในเขตพื้นที่ชายแดนภาคใต้ บนพื้นฐานความคิดที่ว่าพื้นที่เหล่านั้นถูกสยามเข้ายึดครอง หรือที่เรียกว่าล่าอาณานิคม มาตั้งแต่ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ เพื่อต้องการสร้างแนวร่วมมวลชนในพื้นที่ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม BRN เป็นตัวการหลักในการต่อสู้กับรัฐในขณะนี้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในแง่มุมอื่นอย่างสิ้นเชิง
โดยเฉพาะที่กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ที่พยายามใช้คำว่า ปาตานีมาใช้เป็นจุดหมายร่วมกันของ BRN เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อสู้ไปถึงจุดนั้นนั่นคือความเป็นนครปาตานีที่รวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาอันอ้างว่าเป็นพื้นที่ของกลุ่มคนของบรรพบุรุษของพวกเขาในอดีตก่อนที่จะอ้างว่าถูกผนวกรวมเข้ากับรัฐสยามในครั้งนั้น หากแต่แท้ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งพบว่า ปาตานีนั้นเป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนโดยนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่คลั่งเชื้อชาติมลายูมากเกินไป คำว่าปาตานีจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อต้องการแบ่งแยกผู้คนที่แตกต่างทั้งทางกายภาพและความแตกต่างในด้านวิถีชีวิต ความแตกต่างในความเชื่อ และความแตกต่างในความเชื่อทางศาสนา รวมถึงหวังผลในแง่การเมืองนั่นคือการแบ่งแยกการปกครอง และปัจจุบันคำนี้ก็ได้ถูกขบวนการร้ายแห่งนี้นำไปใช้อย่างเข้มข้นในการต่อสู้กับรัฐเพื่อแบ่งแยกการปกครองจากรัฐไปสู่อิสระในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่
หากแต่แท้จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างอีกแง่หนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ พบว่าการรวมดินแดนเหนือคาบสมุทรมลายูเข้ากับสยามในอดีตนั้นเป็นการผนวกดินแดน (Annexation) นั่นคือการนำกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกลุ่มเดียวกัน หากแต่ถูกชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมและแบ่งคนในพื้นที่ออกจากกันเพื่อดูดกลืนทรัพยากรในพื้นที่เหล่านั้นไปเป็นของชาติตะวันตกเอง การเข้ามาหลอมรวมทั้งกลุ่มคนเดียวกันแม้อาจมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมประจำถิ่นเข้าด้วยกันจนกลายเป็นคนสยามเหมือนๆ กัน มีสิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยก สร้างและพัฒนาความเจริญในทุกมิติตามอัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมความเชื่อตามวิถีความเชื่อดั้งเดิมของคนในพื้นที่ท้องถิ่นอย่างเต็มกำลัง จึงเป็นความชอบธรรมในอดีตของสยามในการรวมคืนพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งไม่แตกต่างจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่เน้นเข้ามาดูดกลืนทรัพยากรของประเทศที่ถูกยึดครองแล้วนำกลับไปสู่ประเทศชาติตะวันตก
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีความเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่าขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการทำการออกเสียงในทำนองว่า เห็นด้วยกับการลงประชามติในการเป็นเอกราชตามกติกาที่สหประชาชาติเรียกว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Rights of Self Determination: RSD) สู่เอกราชปาตานีหรือไม่ จนเป็นที่กล่าวขานถึงความไม่เหมาะสมและหมิ่นเหม่ว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายร้ายแรงจนอาจมีผลกระทบต่อตัวแทนพรรคการเมืองบางพรรคที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น และคำว่าปาตานีนี้จึงเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง อันเป็นการสอดประสานกับการสร้างประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลที่ขบวนการร้ายแห่งนี้ได้ดำเนินการปลุกเร้ามาอย่างต่อเนื่อง
ปาตานีหรือปัตตานี ที่เป็นคำเดียวกับ Patani ในภาคภาษาไทยนั้น ปรากฏใช้กันในช่วงรัชกาลที่ 5 โดย แต่หลังจากปี 2449 ไปแล้ว รัฐบาลสยามได้สถาปนาให้ปัตตานีเป็นคำทางการของรัฐบาลสยามมาตั้งแต่บัดนั้น กระทั่งต่อมาถูกท้าทายจากขบวนการชาตินิยมปัตตานีที่สร้างวาทกรรมปาตานี นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้ปาตานี จะเผยตัวตนครั้งแรกในฐานะหน่วยทางการเมืองมาตั้งแต่ 2540 โดย อับดุลเลาะห์ ลออแมน และอารีฟิน บินจิ (จำรูญ เด่นอุดม) จากหนังสือลังกาสุกะ ปาตานี ดารุสลาม(2540) หนังสือเล่มนี้คือหมุดหมายของการสถาปนาคำว่าปาตานีขึ้นในโลกภาษาไทย และเมื่อมีการสถาปนาปาตานีขึ้น คำว่าปัตตานีและปตานีหรือปะตานี ที่เคยใช้กันมาแต่เดิมนั้นหายไปและถูกกดทับด้วยคำว่าปาตานีไปจนหมดสิ้น ผลกระทบที่สำคัญที่สุด ปาตานีถูกใช้เป็นหมุดหมายสำคัญประการหนึ่งในการเสริมพลังการต่อสู้กับรัฐของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานอย่างเข้มข้นทรงพลังยิ่ง ประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลที่ถูกกลุ่มแกนนำนักจัดตั้งแนวร่วมขบวนการของคนกลุ่มนี้นำมาใช้ในการปลุกเร้ากลุ่มคนเป้าหมายตั้งแต่ในวัยเด็กไปจนถึงวัยหนุ่มสาวจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้กับรัฐได้อย่างต่อเนื่องลุ่มลึกซึมซับไปในมโนสำนึกของผู้คนพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยการใช้การตีความประวัติศาสตร์เพียงบางส่วนหรือเพียงด้านเดียว แล้วนำเสนออย่างมีกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความรู้สึกเกลียดชัง เครียดแค้นคนกลุ่มอื่นในพื้นที่และนอกพื้นที่ สร้างความแตกต่างแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับคนอื่นที่แตกต่างทั้งทางกายภาพและวิธีคิด โดยสร้างวาทกรรมปาตานีอันเป็นหมุดหมายของการต่อสู้ในสมรภูมิแห่งนี้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ที่แท้จริงอย่างสิ้นเชิง