รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต     

เมื่อองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มีความสามารถเท่ากัน ความรู้เท่ากัน และได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารพอ ๆ กัน แต่ทำไมบางองค์กรจึงล้มเหลว และทำไมบางองค์กรจึงประสบความสำเร็จ หากวิเคราะห์ลึก ๆ แล้วคำตอบน่าจะเกิดมาจากปัจจัยหนึ่งคือ ‘วิธีการคิดที่นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การคิดต่าง” เพราะมีผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่ามีคนในองค์กรที่เรารู้จักและมีปฏิสัมพันธ์ด้วย 1 ใน 5 คน จะคิดแตกต่างจากคนอื่น ส่วนข้อดีของการคิดต่างอย่างน้อยก็เป็นบ่อเกิดของความหลากหลายทางความคิด

คิดต่าง คืออะไร?

‘การคิดต่าง’ เป็นเรื่องของวิธีการมองและคิดที่แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดต่างเกี่ยวข้องกับ
ความแปลกใหม่หรือคุณภาพที่แตกต่างออกไป 'การคิดต่าง' ยังถูกมองว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ หากบุคคลและองค์กรเรียนรู้ที่จะคิดต่างแล้วจะทำให้สามารถกระทำในสิ่งที่ยาก ๆ และสิ่งที่ดีที่สุดไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือบริบทใดก็ตาม เช่น บ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงาน และในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

คิดต่าง เพื่ออะไร?

คิดต่าง ก็เพื่อให้โอกาสกับคนและองค์กรได้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่คนอื่นหรือองค์กรอื่นมองข้าม เมื่อมองเห็นอุปสรรคที่ยากจะหยั่งถึงหรือก้าวข้าม การคิดต่างจะทำให้มองเห็นความท้าทายที่ต้องเผชิญและอุปสรรคที่ต้องเอาชนะให้ได้ และถ้าได้ผนวกกับความมั่นใจและความไม่กลัวที่จะเผชิญกับความยากลำบากแล้วก็เท่ากับว่าความล้มเหลวได้ถูกปิดประตูลงด้วยเช่นกัน การคิดต่างช่วยให้มองเห็นว่าอุปสรรคนั้นไม่ใช่สิ่งกีดขวางทางเดิน แต่อุปสรรคคือ เส้นทางนำไปสู่ความสำเร็จ

คิดต่าง อย่างไร?

คิดอย่างไรถึงจะเรียกว่า ‘คิดต่าง’ การคิดต่างเป็นการคิดในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะต้องมีคุณลักษณะที่สะท้อนหรือบ่งบอกว่าเป็นการคิดต่าง ได้แก่ 1) การคิดที่ ‘Dissimilar’  หรือการคิดที่ไม่เหมือนทั้งในเรื่องของสไตล์ (style) ประเภท (type) ฟอร์ม (form) กระบวนการ (process) คุณภาพ (quality) และปริมาณ (amount) 2) การคิดที่ ‘Unusual’ หรือการคิดที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น ๆ
3) การคิดที่ตรงข้ามกับสมมติฐานและตรรกะหรือเหตุผลที่ยอมรับกันทั่วไป และ 4) การคิดที่ ‘Weird’ หรือการคิดที่พิสดารแหวกแนว

ยุคนี้สมัยนี้ คิดต่างได้ผลอย่างไร?

หากคนในองค์กรคิดเหมือน ๆ กันและนำไปสู่การปฏิบัติที่เหมือน ๆ กัน องค์กรย่อมไม่เกิดผลสำเร็จที่แตกต่างและดีที่สุด ในทางตรงข้ามหากมีการคิดต่างและคิดนอกกรอบ แล้วมีการนำไปปฏิบัติใช้จริง แม้ว่าในระยะแรกของการปฏิบัติอาจขรุขระล้มเหลว แต่ถ้าสู้ต่อ
ไม่ยอมแพ้ เรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดที่นำไปสู่ความล้มเหลวนั้น และหาทางขจัดออกไปก็จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จที่อยู่เหนือข้อจำกัดขององค์กร

สำหรับคุณสมบัติสำคัญเพื่อบ่มเพาะสร้างความคิดต่าง อันจะเป็นหนทางนำพาองค์กรไปสู่ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีกว่าเก่า เช่น ความมั่นใจ
ความซื่อสัตย์ ความไม่กลัว การแสวงหาชัยชนะเล็ก ๆ ก่อน การเรียนรู้ตลอดเวลา การออกไปรู้จักโลกและผู้คนข้างนอก การเปิดใจ/ใจกว้าง การทำงานที่น่าเบื่อให้เป็นเรื่องสนุก และการฝันใหญ่แต่ไม่เพ้อฝัน เป็นต้น    

คิดต่าง เป็น “แต้มต่อ”

ผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรบริษัท Adobe ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นสำหรับการดีไซน์หรือการออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้งานทุกด้านออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด พบว่า บุคลากรบริษัท ร้อยละ 96 ระบุว่าความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้และคุณค่าที่นำมาสู่โลกใบนี้ และบุคลากรบริษัท ร้อยละ 78 หวังว่าองค์กรจะเปิดโอกาสให้บุคลากรคิดต่าง เพราะการคิดต่างช่วยนำพาไปสู่ความก้าวหน้าในสายอาชีพได้รวดเร็วขึ้น

ตัวอย่าง ‘Lazy Economy’ เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เกิดจากความคิดต่างและต้องการเล่นกับพฤติกรรมความขี้เกียจหรือการชอบความสะดวกสบายและความรวดเร็วของคน จนกลายเป็นการสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล เช่น ธุรกิจสั่งซื้ออาหารออนไลน์ ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจจองคิวซื้อของ ธุรกิจรับจ้างทำความสะอาดบ้าน/ห้องชุด เป็นต้น

กรณีตัวอย่างมหาวิทยาลัย ที่ คิดต่าง สู่ความสำเร็จผ่าน 5 กลยุทธ์สำคัญ

IU University มองว่านวัตกรรมด้านการศึกษา (Innovation in Education) ไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากวิธีการสอนแบบดั้งเดิมนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปในโลกปัจจุบันและอนาคตที่มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

IU University เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี ได้รับการรับรองโดยรัฐและเป็นที่รู้จักในด้านความเป็นเลิศด้านการศึกษา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยใช้ชื่อว่า International University in Germanay และในปี
พ.ศ. 2562 เปลี่ยนชื่อเป็น IU University ปัจจุบันมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีรวมกันกว่า 100,000 คน มหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขาวิชาธุรกิจ ไอที สุขภาพ และวิศวกรรมศาสตร์

กลยุทธ์สำคัญของ IU University เพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษา ได้แก่

กลยุทธ์ที่ 1 #surveys & #feedback มหาวิทยาลัยสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาเป็นประจำและรวบรวมข้อมูลย้อนกลับ เพื่อทำความเข้าใจความต้องการและความชอบของนักศึกษา แล้วนำข้อมูลไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของนักศึกษา

กลยุทธ์ที่ 2 #newtechnologies นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักศึกษา

กลยุทธ์ที่ 3 #collaboration มหาวิทยาลัยมุ่งแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่พลิกโฉมวงการการศึกษา ก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ความรู้ในโลกจริง ยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ และการจ้างงานของนักศึกษา

กลยุทธ์ที่ 4 #experimentation & #risktaking เปิดโอกาสให้คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ทดลองใช้วิธีการสอนและเทคโนโลยี
ใหม่ ๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เสี่ยง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม

กลยุทธ์ที่ 5 #designthinking ให้ความสำคัญกับความต้องการของนักศึกษาและข้อเสนอแนะในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้หลักการ Design Thinking โดยเน้นการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่เพื่อระบุโอกาสในการปรับปรุงและการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการ การส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และการสร้างสรรค์ร่วมกัน

นี่แหละคือ คำตอบที่ว่า ทำไม? “องค์กร” ต้อง “คิดต่าง”