สถาพร ศรีสัจจัง

“หากเราต้องการให้ species ของเราอยู่รอด หากเราต้องการค้นหาความหมายของชีวิต หากเราต้องการช่วยโลกและสิ่งมีชีวิตที่มี sense รับรู้ซึ่งอาศัยอยู่ในโลกแล้วล่ะก็ ความรัก คือคำตอบเดียวที่มี” (อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ : "จดหมายถึงลูกสาว")

เพิ่งรู้ว่าการมี “ไลน์” ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารยุค “ดิจิทัล” ระหว่างบุคคล และ ระหว่างกลุ่มเป็นของตัวเอง มีด้านดีอยู่มากเช่นกัน คือทำให้ได้รับเรื่องราวข่าวสารที่หลายครั้ง “มีประโยชน์” สำหรับการเรียนรู้ในหลายด้าน ทั้งอาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวเอง ผู้อื่น และสังคมได้ แม้หลายครั้งจะมี “ขยะ” หรือ “ข้อมูลพิษ” ที่ส่งผ่านมาทางนั้นอยู่ไม่น้อย                                     

บางใครเพิ่ง “ติดตั้ง” ระบบไลน์ให้เมื่อไม่นาน ก็เริ่มได้รับข่าวสารดังว่ามาเรื่อยๆ วาทะของนักฟิสิกส์ลือนามผู้คิดสูตรระเบิดปรมาณูที่ชื่อ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ซึ่งยกมา “จั่วหัว” ไว้ข้างบน ก็เป็นหนึ่งใน “ความรู้” ที่ใครก็ไม่รู้เพิ่งส่งมาให้ทาง “ไลน์” ที่ว่านั้น ที่จริงเคยผ่านตาข้อความนี้มาบ้างเหมือนกัน แต่ก็เมื่อนานมาแล้ว                                        

กำลังคิดจะไปสืบค้นข้อความจาก “หนังสือ” เพื่อเขียนถึงอะไรบางเรื่องอยู่พอดี พอข้อความนี้ “ลอยมา” ก็เลยคว้าหมับมาใช้ได้อย่างง่ายดาย  ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่ยังใช้ “ไลน์” ไม่เป็น เพราะไม่ยอมติดตั้งด้วยคิดไปว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นน่าจะไม่มีประโยชน์อะไร ก็คงจะ “รับรู้” หรือ “เข้าถึง” ข้อมูลบางเรื่องได้ยากกว่านี้                                       

นี่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ของตัวเอง ที่ไม่มีความคิด “อนุโลม” ไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา                                      

ที่คิดถึงคำ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ขึ้นได้ ก็เป็นเพราะ “ไลน์” อีกนั่นแหละ!

 

เนื่องเพราะหลังจากได้รับ “จดหมายถึงลูกสาว” ของไอน์สไตน์แล้ว ก็มี “กวี” บางท่านส่งงานมาให้อ่าน บทกวีที่ส่งมาน่าจะเป็นงานเขียนในรูปแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “Blank verse” ที่ดูเหมือนวงการกวีไทยจะเรียกว่า “กลอนเปล่า” หรืออะไรทำนองนั้น จึงขอเผื่อแผ่ “แชร์” มาให้อ่านกันดูเล่นๆทั้งบทเลยละนะ…                           

ว่าด้วย “ข้ อ จำ กั ด ท า ง ป ร ะ วั ติ ศ า ส ต ร์”

(หรือ คิดถึงชายชื่อ “ KARL  MARX”) 


(1)

๐ ชายเคราดกชาวเยอรมนีคนหนึ่ง ชื่อ “คาร์ล มาร์กซ์”,นำเสนอบางทัศนะไว้เป็นหลักการพอสรุปความได้เป็นทำนองว่า “ทุกสิ่ง,ทุกคน,ทุกวงการ,ทุกสังคม,ล้วนแล้วแต่ต้องมี สิ่งที่เรียกว่า 'ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์'  เป็น “อัตลักษณ์จำเพาะ” เป็น “ปัจจัยแห่งความขัดแย้งภายใน” ของตนเอง! "

(2)

อะไร? คือความหมายที่แท้ ของสิ่งที่ชายผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อ “ปัญญาชน” รุนถัดมาจากเขาจำนวนไม่น้อย ในแทบทุกแถบถิ่นทั่วโลก,ทั้งผู้ที่เห็นด้วยจนถึงขั้นสมาทานความคิดเขามาแปรผลเป็นภาคปฏิบัติ,ทั้งที่ไม่เห็นด้วย,และมักก่อกระสต่อต้านความคิดของเขาโดยทางใดทางหนึ่ง,เรียกว่า “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์”

(3)

โดยอรรถาธิบายของเขาเองจากหลายแหล่งที่ใน “ต้นฉบับบทร่าง” ทั้งหลายอาจทำให้พอประมวลความ “เนื้อนัย” ได้เป็น “อย่างง่าย” ทำนองว่า : “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ ก็คือ : “ความพร้อมหรือไม่พร้อมของมูลฐานแห่ง “อัตวิสัย” (objectivity) หรือ “เงื่อนเหตุปัจจัยและข้อจำกัดแห่งความขัดแย้งภายใน” ของ “สิ่ง” ต่อแรงกระทำใดๆจากภายนอก ที่จักก่อให้ “สิ่ง” “เคลื่อนเปลี่ยนไปสู่คุณภาพใหม่” ในรูปการใดรูปการหนึ่ง ในคุณภาพใดคุณภาพหนึ่ง”

(4)

โดยเหตุแห่ง “กฎ” ที่ฟังมาว่าชายเคราดกผู้ได้รับ “รัก” (ต่อเพื่อนมนุษย์)คนนั้นค้นพบดังกล่าวนี้ ทำให้เขาสรุปปัจจัยชี้ขาดการเปลี่ยนแปลงของ “สิ่ง”ไว้ว่า “ท้ายสุดแล้ว เงื่อนเหตุชี้ขาดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “คุณภาพใหม่” ของ “สิ่ง” คือ “คุณภาพจำเพาะของเหตุดำรงแห่งความขัดแย้งภายในของ “สิ่ง” นั้น และดังนั้น “สิ่ง” จึงจักไม่เคลื่อนเปลี่ยนไปสู่คุณภาพใหม่(เพราะ/โดย) “เจตนารมณ์” ของสิ่งใดหรือผู้ใด และสังคมมนุษย์ก็เช่นนั้น!”


(5)

ช่วงยามนี้ : นอกจากจะพลันรำลึกคุณูปการของชายเคราดกตาสว่างชาวเยอรมนีที่ชื่อ “คาร์ล มาร์กซ์” คนนั้นแล้วยังพลันประหวัดรู้สึกถึงบรรดามิตร “ผู้กล้า” (Avant-garde)ในนาม “สหายนักปฏิวัติไทย”!

“เพียงภูมิ  บูรพา”

ปลายกรกฎฯ 2566

 

ไม่มีอะไรมากไปกว่าได้อ่านข้อความ 2 ชุดนี้แล้ว เกิดความรู้สึก “อยากบอก” แก่มิตรสหายใดก็ตามที่ “กล้าเปิดใจรับฟัง” ว่า ในข้อความทั้ง 2 บท แท้จริงมี “คำสำคัญที่สุด” (Keywords) อยู่อย่างน้อย 2 คำ คือคำว่า “รัก” (แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคำ “โลภ/โกรธ และ หลง”) และประโยคที่ว่า “สิ่งจักไม่เคลื่อนเปลี่ยนไปสู่คุณภาพใหม่(เพราะ/โดย)เจตนารมณ์ของสิ่งใดหรือผู้ใด” (ที่ไม่สอดคล้องกับ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ของสิ่งนั้น)สวัสดี!!ฯ