เสือตัวที่ 6
การรุกไล่ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ขับเคลื่อนการต่อสู้ เพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้ายคืออิสรภาพในการปกครองกันเองหรือความเป็นเอกราชในดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้มีความก้าวนำฝ่ายรัฐมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคิดริเริ่มกลยุทธ์ใหม่ๆ มาเป็นโจทย์ฝ่ายรัฐต้องเป็นผู้ตามแก้ปัญหาที่ฝ่ายขบวนการเป็นผู้กำหนดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับจากการเดินหน้าต่อสู้กับรัฐตามแผนบันได 7 ที่มีเป้าหมายคือการต่อสู้ด้วยอาวุธ อันเป็นจุดสุดยอดของการต่อสู้ของประชาชน เพื่อทำให้เกิดสงครามประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ หากก็ถูกโต้กลับจากรัฐด้วยนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2555-2557 ของ สมช. ที่เป็นกรอบทิศทางหลักในการแก้ปัญหาโดย ศอ.บต.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา และ กอ.รมน. จัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงรองรับในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการระดับหนึ่งจนทำให้เกิดความสำเร็จในการแก้ปัญหาทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ดินทำกิน การส่งเสริมการประกอบอาชีพ เร่งรัดแก้ปัญหายาเสพติด ส่งเสริมการศึกษาและศาสนาของประชาชนในพื้นที่ตามความต้องการและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศโลกมุสลิมกับคนในพื้นที่อย่างจริงจังโดยเฉพาะการส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในประเทศตะวันออกกลางตามวิถีทางตามความเชื่อทางศาสนา การบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนากับภาคประชาชน
และที่สำคัญควบคู่ไปด้วยกับการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของ ศอ.บต. ดังกล่าวข้างต้นก็คือ การขับเคลื่อนการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของขบวนการที่มุ่งหมายจะสร้างความปั่นป่วนด้วยอาวุธในพื้นที่อันเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าไปสู่สงครามประชาชนอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของแผนบันได 7 ขั้น ด้วยการที่รัฐใช้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นองค์กรหลักในการรักษาความมั่นคงนำความสงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติทางทหารต่อกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของขบวนการร้ายแห่งนี้ซึ่งใช้กองกำลังติดอาวุธเป็นเครื่องมือกลักในการแย่งยึดอำนาจรัฐ โดยรัฐสามารถระงับยับยั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ให้ไปถึงจุดนั้น ด้วยการใช้กำลังทหารของรัฐเข้าต่อสู้อย่างกลมกลืนกับการพัฒนาของ ศอ.บต. เพื่อการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ โดยรัฐได้บั่นทอนการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐปัตตานี จำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติการก่อเหตุหรือการขยายแนวคิดและแนวร่วม พร้อมกับเน้นการรักษาชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชน พร้อมทำความเข้าใจกับนานาประเทศเพื่อไม่ให้องค์กรระหว่างประเทศถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของขบวนการ
จนกระทั่งในห้วงเวลาระยะหลังมานี้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ จึงได้มีการปรับแนวรบทางยุทธศาสตร์ใหม่ด้วยการขับเคลื่อนตามแนวทางตามเงื่อนไขของสหประชาชาติที่ว่าด้วยสิทธิในการกำหนดอนาคตของคนในพื้นที่ (Right to Self Determination: RSD) โดยหลักการที่จะกำหนดใจตนเอง (RSD) ได้นั้น ต้องอยู่ทั้ง 4 เงื่อนไข คือ 1. เป็นพื้นที่ที่มีการขัดแย้ง (การต่อสู้) ด้วยอาวุธอย่างรุนแรง 2. มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง 3. เป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง 4. เป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง (สิทธิความเป็นเจ้าของ) ร่วมกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์โจมตีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โฆษณาชวนเชื่อทั้งภายในและต่างประเทศ ใช้การบิดเบือนข้อมูลให้เห็นว่ารัฐบาลไทยปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมในด้านลบ ปลุกกระแสชาตินิยมและสร้างความเกลียดชังระหว่างคนต่างศาสนาให้กับกลุ่มเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ให้ต่อต้านอำนาจรัฐ ขยายผลสู่องค์กรระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายมวลชนและแนวร่วมที่แอบแผงอยู่กับองค์กรภาค ประชาสังคมมีการเคลื่อนไหวสอดรับกับการเมืองระดับชาติที่กำลังเปลี่ยนผ่านอยู่ในขณะนี้
ในขณะที่บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงการเมืองระดับชาติที่กำลังสร้างกระแสสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การเลือกตั้งผู้ปกครองสูงสุดระดับจังหวัดด้วยคนในพื้นที่เอง จึงเป็นโอกาสทองของการเปิดปฏิบัติการรุกทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้สังคมออนไลน์เป็นช่องทางแสดงตนในการอ้างความเป็นตัวแทนประชาชนชาวมลายูปัตตานี พร้อมกับเสนอข้อเรียกร้องที่อ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชนสู่การการดำเนินงานของกลุ่มแนวร่วมสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม PerMAS ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ มุ่งสู่หลักการสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (RSD) โดยจัดกิจกรรมให้มีการลงคะแนนเสียงประชามติ ในการกำหนดอนาคตของคนในพื้นที่ว่าประสงค์จะอยู่ในปกครองของรัฐหรือไม่ ซึ่งต่อมาหน่วยงานความมั่นคงก็ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร รวมทั้งกระแสสังคมที่ตีกลับแนวความคิดและการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรงในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติที่ถูกจัดตั้งโดย BRN ที่มีการหนุนเสริมจากนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่มีการกล่าวอ้างถึงสิทธิการกำหนดอนาคตของตนเอง (RSD) จนถึงขั้นจะประกาศเอกราชนั้น ถูกกระแสตีกลับทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย ทั้งไม่มีการตอบรับจากนานาอารยะประเทศ ซึ่งนั่นทำให้บรรดาคนในขบวนการ BRN ต้องทบทวนกลยุทธ์การต่อสู้ใหม่ เพราะเส้นทาง RSD เพื่อหวังเป็นเอกราชของพวกเขานั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิด ช่วงเวลานี้ขบวนการร้ายกำลังชะงักงัน กำลังเพลี่ยงพล้ำและกำลังปรับแนวรบใหม่ จึงเป็นจังหวะทองของรัฐที่ต้องเร่งรุกกลับฝ่ายขบวนการอย่างฉับพลันก่อนที่ฝ่ายขบวนการร้ายแห่งนี้จะตั้งหลักได้และหาโจทย์ใหม่ๆ มาให้ฝ่ายรัฐต้องตามแก้ปัญหากันอีกไม่รู้จบ