ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

กำเนิดฟ้าเมืองไทย

3.นักเขียนตาย-นักเขียนเกิด-“เขาเริ่มต้นที่นี่”

ความไม่เที่ยงย่อมเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติ อันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต นักเขียนเก่ารุ่นบุกเบิกฟ้าเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยอาวุโสได้ถูกกาลเวลาและชะตากรรมพรากจากไปหลายคนได้แก่ พรานบูรพ์ พ. เนตรรังษี สด กูรมะโรหิต สันต์ เทวรักษ์ เหม เวชกร ศุภร บุนนาค พนม สุวรรณบุณย์ อรวรรณ ท. เลียงพิบูลย์ ลิขิต วัฒนปกรณ์ เป็นอาทิ หากในขณะเดียวกัน ในยุคนั้นฟ้าเมืองไทยเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักเขียนใหม่ จนกระทั่งมีชื่อเสียงขจร...

นิมิตร ภูมิถาวร ซึ่งเคยส่งเรื่องไปที่โทรทัศน์ รายเดือน ในเครือสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม คอลัมน์ “คนสวยของฉัน”ซึ่งอาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นบรรณาธิการ แจ้งเกิดที่ฟ้าเมืองไทย ฉบับที่ 8 วันที่ 6 พฤษภาคม 2512 ด้วยเรื่องสั้น “โลกที่พบใหม่” ซึ่งฟ้าเมืองไทยเพิ่งวางตลาดได้ยังไม่ถึง 1 เดือน

ฟ้าเมืองไทยฉบับต่อมา ตีพิมพ์จดหมายของนิมิตร ภูมิถาวร พร้อมคำแนะนำและให้กำลังใจจากบรรณาธิการ  อีก 8 เดือนต่อมาคือฉบับที่ 42 วันที่ 8 มกราคม 2513 ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกของนิมิตร ภูมิถาวรคือเรื่อง “แด่คุณครูด้วยคมแฝก”(เดิมชื่อ “เรือประชาบาล” ช่วงนั้นมีหนังเรื่อง TO Sir With Love-แด่คุณครูด้วยดวงใจ อาจินต์ ปัญจพรรค์ จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “แด่คุณครูด้วยคมแฝก”) ปรากฏว่านวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมสูง เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะวงการข้าราชครู

เมื่อนวนิยายเรื่อง “แด่คุณครูด้วยคมแฝก”นำไปพิมพ์รวมเล่มส่งประกวด ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำปี 2517 และได้รับการสร้างเป็น

ภาพยนตร์ปี 2518 ต่อมา นิมิตร ภูมิถาวรเป็นนักเขียนประจำฟ้าเมืองไทย ได้เขียนนวนิยายอีกหลายเรื่องได้แก่ แด่เรือจ้างด้วยแจวหัก สร้อยทอง กระทรวงคลังกลางนา ท้องนาสะทือน สายลมเสียงซอ เป็นอาทิ

ถือว่าเป็นนักเขียนชูโรงคนหนึ่งของฟ้าเมืองไทยที่เป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดใจผู้อ่าน แต่ก็ต้องมาจบชีวิตเสียก่อนเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพฯเมื่อปี 2524  ฝากนวนิยายเรื่องสุดท้าย “แผ่นดินชายดง”ในฟ้าเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ตายคาหมึก

คำพูน บุญทวี นักเขียนหน้าใหม่ที่กลายเป็นนักเขียนชูโรงของฟ้าเมืองไทยในเวลาต่อมา  ผ่านเกิดด้วยรื่องสั้น “นิทานลูกทุ่ง” ซึ่งอาจินต์ ปัญจพรรค์ตั้งให้ ชื่อเดิมคือความรักในเหวลึก ต่อมา เป็นนักเขียนประจำอีกคนหนึ่งของฟ้าเมืองไทย นวนิยายเรื่องแรกคือ  มนุษย์ร้อยคุก  เรื่องต่อมาคือ “ลูกอีสาน” ได้รับรางวัลดีเด่น ในสัปดาห์แห่งชาติปี 2519 และได้รางวัลซีไรต์ปี 2522 ผลงานเรื่องอื่น ๆ ได้แก่นายฮ้อยทมิฬ ลูกลำน้ำโขง นักเลงตราควาย หอมกลิ่นบาทา เป็นอาทิ

หยก บูรพา หรือเฉลิมศักดิ์ ศิลาพร(ภายหลังเปลี่ยนเป็น เฉลิมศักดิ์ รงคผลิน) เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการฟ้าเมืองไทย ซึ่งอาจินต์ ปัญจพรรค์เรียกตัวมาทำงานตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนเรื่องสั้นและคอลัมน์มาก่อน ประเดิมเรื่องสั้นชุด ที่นี่มหาวิทยาลัย ที่ฟ้าเมืองไทยและเป็นกรรมการตัดสินประกวดกลอน มีทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายลงอย่างต่อเนื่อง  นวนิยายเรื่อ’ “กตัญญูพิศวาส”ลงพิมพ์ในฟ้าเมืองไทย ได้รับรางวัลชมเชยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2522

บุญโชค เจียมวิริยะ เป็นนักเขียนเก่าในนามปากกา “คม ศุภลักษณ์” มีผลงานทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายมาก่อน ผลงานที่ประเดิมในฟ้าเมืองไทยสร้างความเกรียวกราวและสั่นสะเทือนวงการมหาดไทยคือนวนิยายเรื่อง “นายอำเภอปฏิวัติ” นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมในงานสัปดาห์ปี 2518

ต๊ะ ท่าอิฐ มีเรื่องสั้นลงในชาวกรุงมาแล้วในนาม “เชียงแสน ราศีจันทร์” และใช้นามปากกานี้เขียนเรื่องสั้นส่งชุดสนามมวยและเรื่องเกี่ยวกับทหารกลับจากแนวรบลงฟ้าเมืองไทย ต่อมา ส่งเรื่องสั้นชุดไกด์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ชอบมาก จึงให้เขียนประจำฟ้าเมืองไทย จนกระทั่งเรื่องชุดไกด์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคู่กับนามปากกา “ต๊ะ ท่าอิฐ”

“เขาเริ่มต้นที่นี่” เป็นคอลัมน์ใหม่ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์เปิดหน้านี้ให้นักเขียนใหม่มีเหตุสืบเนื่องมาจากการประกวดเรื่องสั้นชิงเงินรางวัล 1,000  บาท จากคนส่งเรื่องสั้นมากกว่า 2,000 เรื่อง แต่หลังจากการประกวดผ่านไป นักเขียนที่ได้รางวัลก็หายเงียบไป คอลัมน์นี้จึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมนักเขียนหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้เกริ่นน้ำในบทบรรณาธิการที่จะเปิด “เขาเริ่มต้นที่นี่”ว่า...

“การนำเรื่องของผู้ที่กำลังคลำทาง ไปสู่โลกการประพันธ์เช่นนี้ ในต่างประเทศก็ได้กระทำ กันโดยตั้งชื่อว่า ‘นักเขียนของวันพรุ่งนี้’ แต่ในวิสัยของไทย ๆ เรา การใช้ชื่อแบบนั้นดูจะเป็นการ ตัดกำลังใจกันไปสักหน่อย เราจึงขอใช้ชื่อว่า ‘เขาเริ่มต้นที่นี่’—โปรดคอยอ่านในฉบับปีใหม่”

“เขาเริ่มต้นที่นี่”ประเดิมฉบับปีใหม่ 2514 ด้วยเรื่องสั้น “หล่อนต่ำเพราะอยากสูง”ของ นักเขียนใหม่ถอดด้ามในเวลานั้นที่กลายเป็นนักเขียนชื่อดังระดับหัวแถวในเวลาต่อมานั่นก็คือ ไมตรี ลิมปิชาติ ต่อมา ได้เขียนเรื่องสั้นชุดประปา ประมาณ 20 เรื่อง

นับแต่นั้นก็มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารอื่น ๆ มากมายได้แก่สตรีสาร ชาวกรุง ลลนา *สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฯลฯ จนกระทั่งมีชื่อเสียงในระดับหัวแถวมีผลงานทั้งรวมเรื่องสั้น นวนิยาและสารคดีมากมายเช่นคนอยู่วัด ความรักของคุณฉุย บ้านของมังคุด คนในผ้าเหลือง ฯลฯ

ฉบับที่ 94 ประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2514 ตีพิมพ์เรื่องสั้นของนักเขียนที่มีผลงานลงที่อื่นมาแล้วคือ เรื่องสั้น “มุมหนึ่งของเมืองไทย”นามปากกา “วัฒนู” นั่นก็คือวัฒน์ วรรลยางกูร ภายหลัง

เป็นระดับแถวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทย มีผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดีและความเรียงได้แก่ กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ รถไฟสังกะสี คือรักและหวัง สิงห์สาโท เสียงเต้นของหัวใจ ฯลฯ

ฉบับที่ 107 ประจำวันที่ 8 เมษายน 2514-กระเป๋ารถเมล์ ของมานพ แก้วสนิท ในเวลาต่อมา เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ผลงานเช่น เธอมิได้เป็นเพียงโสเภณี เรื่องจากหมู่บ้าน ครูป่าจากป่าใต้ ฯลฯ

ฉบับที่ 140 ประจำวันที่ 25  พฤศจิกายน 2514-จักรยานทีมชาติ ของสินธู

ฉบับที่ 233 ประจำวันที่ 6  กุมภาพันธ์ 2516-แด่ใบไม้ร่วง 30828ใบ ของรอ. จันทรคีรี (นามปากกาของ “เรืองยศ จันทรคีรี”)

ฉบับที่ 291 ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2517-อวสานของการเริ่มต้น ของบัณฑูร กลั่นขจร ภายหลังเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง

ฉบับที่ 398 ประจำวันที่  4 พฤศจิกายน 2519 เรื่องสั้นของลำเนา ศรีมังคละ(ไม่มีข้อมูลว่าเรื่องสั้นเรื่องอะไร) ภายหลังเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการฟ้าเมืองทอง

ฉบับที่  407  ประจำวันที่ 6 มกราคม 2520 เรื่องสั้นของนิพพานฯ(มกุฏ อรฤดี-ไม่มีข้อมูลว่าเรื่องสั้นเรื่องอะไร) ภายหลังมีชื่อเสียงจากนวนิยายเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้”ที่ลงในนิตยสารสตรีสาร

นอกจากนี้ยังมีผลงานของนักเขียนหน้าใหม่คนอื่น ๆ และนักเขียนที่กำลังสร้างผลงาน ได้แก่ ลำเนา ศรีมังคละ(ภายหลังเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการฟ้าเมืองทอง).นิพพานฯ(มกุฏ อรฤดี( ภายหลังมีชื่อเสียงจากนวนิยายเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้”ที่ลงในนิตยสารสตรีสาร) , ศิวกานท์ ปทุมสูติ ,ยุทธศักดิ์  จรลี() ,เสกสรรค์ แสงจันทร์รุ่ง ,รำพัน พิลาป ,เพ็ญศิริ งามสมบัติ เป็นอาทิ           

จากชื่อคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่”ที่ใช้มาเป็นเวลายาวนานนับสิบปี ในภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “เขาเริ่มต้น” เสมือนบ่งบอกให้รู้ว่า ไม่ใช่คอลัมน์สำหรับนักเขียนใหม่ที่ลงเรื่องสั้นเป็นเรื่องแรกที่ฟ้าเมืองไทยเท่านั้น หากยังหมายถึงนักเขียนที่เคยมีผลงานเรื่องสั้นมาแล้ว เพื่อเปิดคอลัมน์ให้กว้างขึ้น

 

“ผู้มีหน้าที่เขียนทำหน้าที่ของเขา ยามว่างเป็นเชื้อเพลิงของความคิด ประสบการณ์เป็นเนื้อธาตุของผลิตผล ชีวิตจิตใจและความรักงานเป็นตัวเร่ง สมองเป็นเครื่องกลควบคุมการทำงาน”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)