เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นวันครบรอบ 24 ปีของการถึงแก่อสัญกรรมของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี 2558 และได้รับรางวัลแมกไซไซปี 2508

ท่านได้รับการยกย่องจาก สเตฟาน คอลินยอง (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมันว่าเป็น "บิดาผู้วางรากฐานเมืองไทยสมัยใหม่" (Founding Father of Modern Thailand) โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาชนบทของไทย

อาจารย์ป๋วยจบเศรษฐศาสตรบัณฑิตที่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่ออายุเพียง 43 ปี อยู่นานถึง 12 ปี เคยเป็นคณบดีเศรษฐศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงลี้ภัยไปอยู่อังกฤษจนถึงแก่อสัญกรรมที่นั่นเมื่อปี 2542

ศ.ดร.ป๋วย เป็นหนึ่งในผู้นำเสรีไทย ต่อต้านการครอบครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้ร่วมก่อตั้งเสรีไทยที่อังกฤษ ต่อมาได้เดินทางกลับเมืองไทย โดดร่มลงที่ชัยนาท

ท่านมีข้อคิดข้อเขียนที่รู้จักกันดี คือ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  “สันติประชาธรรม” ที่ไม่ได้มีแต่เรื่อง “เศรษฐกิจ” แต่เรื่อง “ชีวิตและสังคม” โดยรวม แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ท่านได้สืบทอดแนวคิดและแนวปฏิบัติของ ดร.เจมส์ วาย ซี เยน ผู้ก่อตั้ง “ขบวนการฟื้นฟูชนบท” ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งท่านและคณะรับมาสานต่อที่เมืองไทยในนาม “มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์”

แม้อาจารย์ป๋วยจะทำงานกับผู้นำเผด็จการอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านก็เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ยอมทำผิดหรือเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมประชาธิปไตย โดยแนวคิดที่สะท้อนชัดเจนใน “สันติประชาธรรม” ซึ่งท่านเสนอให้ใช้ไปพร้อมกับคำว่า “ประชาธิปไตย”

ท่านเห็นว่า “คนเราต้องมีความดี ความจริง และความงาม เป็นหลักใหญ่ในการดำเนินชีวิต” และสังคมในอุดมคติของท่านมีหลักสี่ประการ คือ สมรรถภาพ เสรีภาพ ความยุติธรรม และความเมตตากรุณา”

ที่ท่านอยากให้ใช้ “สันติประชาธรรม” เพราะเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” กับประชาธิปไตย และต้องทำให้เป็นเรื่องเดียวกันให้ได้จริง ไม่เช่นนั้น ประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นเพียง “วาทกรรม” และ เครื่องมือแบบใหม่ให้คนบิดเบือนและนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม เพราะสังคมเปิดโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียมกันในทางทฤษฎี แต่ไม่ใช่ในทางปฏิบัติ ที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ไม่ได้ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยที่เป็น “ประชาธรรม” และนำไปสู่สันติ คือ การที่ประชาชนมีส่วนสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง  มีส่วนร่วมไม่เพียงแต่ไปเลือกผู้แทนเข้าสภา แต่ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตรวจสอบ และร่วมกำหนดนโยบายสำคัญต่างๆ ของบ้านเมือง

โดยแนวคิดแล้ว “สันติประชาธรรม” สัมพันธ์กับ “สัตยาเคราะห์” ของมหาตมะคานธี และการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย ซึ่งมีทั้งขบวนการรุนแรงและสันติวิธี โดยรวมทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไปหลายแสนคน

มหาตมะคานธีได้นำขบวนการต่อสู้แบบสันติวิธี อหิงสา สัตยาเคราะห์ เพื่อเอาชนะความเกลียดด้วยความเมตตา การให้อภัย การไม่ใช้กำลัง

“สัตยาเคราะห์” แปลว่า “แข่งแกร่งหนักแน่นในความจริง” ซึ่งท่านไม่ได้ใช้เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นคติธรรมในชีวิตประจำวันของท่าน ดังหนังสืออัตชีวประวัติที่ชื่อว่า “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” ที่ว่า “หากทุกคนหนักแน่นในความจริงแล้ว เราก็จะวิเคราะห์ว่าอะไรคือความยุติธรรมในทุกมิติ”

เมื่อการต่อสู้ดูเหมือนสะดุดหยุดลงหรือมีอุปสรรคสำคัญ มหาตมะคานธีเลือกวิธีอดอาหารเพื่อเตือนสติทั้งฝ่ายปกครองที่ไม่เป็นธรรมและพรรคพวกของตนเองที่ขาดสติไปชั่วขณะหนึ่ง

นอกจากความรักและความเมตตาต่อทุกคน ร่วมทั้งฝ่ายตรงข้าม อีกวิธีหนึ่งเพื่อเอาชนะความอยุติธรรม คือการดื้อแพ่ง คือการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อท่านไปช่วยชาวบ้านและถูกจับ ท่านรับสารภาพที่ศาล บอกว่า ที่ท่านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของตำรวจ ไมใช่เพราะไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่เพราะ “ข้าพเจ้าต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งกว่านั้น คือ คำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวข้าพเจ้าเอง” หรืออีกคำหนึ่ง คือ “มโนธรรม” หรือ “จิตสำนึก” นั่นเอง

เหตุการณ์สำคัญที่มีความหมายยิ่งของการต่อสู้แบบ “สัตยาเคราะห์” คือการชักชวนชาวอินเดียไม่ให้จ่ายภาษีเกลือ ซึ่งอังกฤษห้ามคนอินเดียทำเกลือกินเอง ถ้าทำก็ต้องเสียภาษี มีบริษัทอังกฤษที่ผูกขาดการผลิตเกลือแต่เพียงผู้เดียว คนอินเดียต้องไปซื้อจากร้าน

เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ซอลท์มาร์ช” (การเดินขบวนเกลือ) หรือ “สัตยาเคราะห์เกลือ” นำประชาชนเดินจากอาศรมของท่านเพื่อต่อต้านกฎหมายไม่เป็นธรรม ไปยังชายฝั่งทะเลที่มีนาเกลือเป็นระยะทาง 390 กม. 24 วัน

แม้ถูกตำรวจตี ถูกจับ ติดคุกก็ไม่ยอม และนั่นคือการจุดประกายให้คนอินเดียหลายล้านคนลุกขึ้นมาร่วม “อารยะขัดขืน” และเข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชอีกจำนวนมาก จนที่สุดอังกฤษก็ต้องยอม

“มหาตมะ” แปลว่า “ผู้มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่” ท่านได้รับความเคารพนับถือว่าเป็น “บิดาแห่งชาติ” ของอินเดีย เพราะการต่อสู้ด้วยหลักอหิงสา ทำให้โลกได้แบบอย่างและบทเรียนว่า หลักอหิงสาเป็นอะไรที่มากไปกว่าการไม่ใช้ความรุนแรง บางครั้งอ้างอหิงสา แต่อาจจะสร้างความรุนแรงมากกว่าการใช้ความรุนแรงโดยตรงเสียอีก

ในอัตชีวประวัติ มหาตมะคานธีบอกว่า “จงจำไว้ว่า ตลอดประวัติศาสตร์ มีทรราชและฆาตกรมากมาย และระยะหนึ่งดูเหมือนจะเอาชนะไม่ได้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็พ่ายแพ้เสมอ”

บทเรียนจากประวัติศาสตร์ จาก “คุรุ” ผู้ยิ่งใหญ่ อย่างมหาตมะ คานธี และดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์