แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยว เป็นเครื่องยนต์หลัก ที่ปฏิเสธไม่ได้ในการพึ่งพาพระเอกคนเดิม กอบกู้เศรษฐกิจไทยจากวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งจากศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างโควิด สงครามการค้าความขัดแย้งขั้วมหาอำนาจ และผลกระทบสงครามจากซีกโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤติโควิดจะคลี่คลาย แต่ผลพวงจากสงครามการค้ายังคงอยู่และสงครามที่ยืดเยื้อ กระนั้น กระนั้น สำหรับประเทศไทยที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ โจทย์สำคัญที่จะต้องเผชิญความท้าทายด้านเศรษบกิจในครึ่งปีหลัง 2566 มีอะไรบ้าง มีรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในเรื่องนี้
“โจทย์แรก คือ การจัดตั้งรัฐบาล และการรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งย่อมเปิดประเด็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจอาเซียนและไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่-1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อนซึ่งเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข” นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุ
สำหรับโจทย์ถัดมา คือ เรื่องภัยแล้ง โดยนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นอกจากภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่อาจคิดเป็นมูลค่าราว 4.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้ อาจกดดันภาคการผลิตและบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง ได้แก่ อโลหะ อาหาร สิ่งทอ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีโอกาสประสบกับสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อย หรือน้อยจนเข้าขั้นวิกฤต นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำ อาจทำให้ธุรกิจต้องลดกำลังการผลิตหรือจำกัดการให้บริการ ส่งผลตามมาให้มีการสูญเสียรายได้ และสำหรับบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นอาหาร ยังมีต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่จะสูงขึ้นด้วย ขณะที่ ประเด็นข้อกังวลเพิ่มเติมคือ ภัยแล้งข้างต้น อาจลากยาวไปถึงปี 2567 ด้วยโอกาสของความรุนแรงที่อาจมากกว่าในปี 2566
สำหรับโจทย์สุดท้าย คือ หนี้ครัวเรือนสูง โดยนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91.0% ในช่วงปลายปีนี้ จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2566 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ดังกล่าว คงจะยังไม่ลดลงแตะ 80% อันเป็นระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank of International Sattlements: BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่ มาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม
3 โจทย์สำคัญที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลังในมือของรัฐบาลใหม่ ในมุมมองของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทว่าโจทย์ที่ท้าทายเฉพาะหน้า คือการจัดตั้งรัฐบาล ที่หลายภาคส่วนต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว