มองไปในอนาคตสภาพสังคมไทย ที่จะเป็นโจทย์ของรัฐบาลชุดใหม่ มีอะไรบ้างนั้น ขออนุญาตหยิบยกบางช่วงบางตอนจากการปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางสังคมไทย” ในเวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ฉายภาพไว้อย่างชัดเจน 6 เรื่องด้วยกัน
คือ 1.การจ้างงานไทย และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับมาหลังวิกฤติโควิด-19 ตอนนี้การจ้างงานกลับมาแล้ว ทำให้อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.05 เปอร์เซ็นต์มีคนว่างงานประมาณ 4 แสนคน หมายความว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาคนมีงานทำแต่ยังมีระดับค่าจ้างไม่ค่อยสูง ทั้งนี้หากพรรคการเมืองจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องปรับให้เหมาะสม สะท้อนเงินเฟ้อกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ควรปรับต่ำสุดที่ 390 บาท และเพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมปรับตัวได้ก็ต้องปรับอย่างต่อเนื่อง
2.หนี้ครัวเรือน จากอัตราค่าจ้างที่ไม่พอเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปลายปี 2565 หนี้ครัวเรือนสูงประมาณ 15 ล้านล้านเป็น 87 เปอร์เซ็นต์ของดีจีพี และจะสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับนิยามหนี้ครัวเรือน โดยนำหนี้อีก 2-3 ตัวเข้ามารวม ก็จะทำให้หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16 ล้านล้านเป็น 91 เปอร์เซ็นต์ของดีจีพี ซึ่งในภาพก็ยังไม่น่าเป็นห่วงมากที่จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
3. สุขภาพภาวะสังคมที่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากอากาศเป็นพิษ PM 2.5 ปัญหาสุขภาพจิตทั้งจากความเครียดและโรคซึมเศร้า และการเสียชีวิตจากโรคติดต่อเช่นโควิด -19
4. ความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เช่น การก่ออาชญากรรมต่อชีวิตและทางเพศ
5.การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งปัจจุบันพบการเกิดอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยพบผู้เสียชีวิตอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวนมาก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก
และ 6.การคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค (สคบ.) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดย 40 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี เราเห็นว่า นอกจาก 6 เรื่องหลักๆ ที่ประธานทีดีอาร์ไอได้กล่าวมาแล้วนั้น รัฐบาลชุดใหม่ควรรวบรวมข้อมูลปัญหาร้องเรียนจากหน่วยงานต่างๆบูรณาการข้อมูลร่วมกัน และสังเคราะห์เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งหาแนวทางเก็บข้อมูลในเชิงรุก ในลักษณะป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน