ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

กำเนิดฟ้าเมืองไทย

2. ราคาแห่งความศรัทธา

นิตยสารฟ้าเมืองไทย จำหน่ายในราคาฉบับระ 3 บาท เมื่อปี 2512 ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก แต่ด้วยรายจ่ายไม่สมดุลกับรายรับ เพราะเป็นหนังสือออกใหม่ ยอดพิมพ์น้อย ฟ้าเมืองไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 จึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาจากราคา 3 บาท ขึ้นเป็น 3.50 บาทและเพิ่มเนื้อหาอีก 4 หน้า ดังถ้อยแถลงในหน้าบรรณาธิการ...

“50 สตางค์ทำอะไรได้บ้างก็ตามเถิด แต่ถ้ามาอยู่ในมือฟ้าเมืองไทยแล้ว มันจะทำให้เพิ่มเรื่องเพิ่มหน้าได้อีก 4 หน้ากระดาษใหญ่ มีความหนยาแน่นเท่าเทียมกับหนังสือรายสัปดาห์ทั่วไป หวังว่าผู้บำรุงเราคงไม่รังเกียจและขอให้เชื่อว่าเงินทุกสตางค์ที่ท่านมอบให้ฟ้าเมืองไทย จะเป็นเงินที่ทำงานหนักที่สุด คุ้มค่าน้ำเงินที่สุด...”

ในการขึ้นราคาฟ้าเมืองไทย ได้บอกกล่าวให้ผู้อ่านรู้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน อีก 4 เดือนต่อมา เมื่อกระดาษขึ้นราคาเกินกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ เกิดผลสั่นสะเทือนต่อวงการพิมพ์  ฟ้าเมืองไทยจำต้องขึ้นราคาในปีที่ 5 จากฉบับละ 3.50 บาท เป็นฉบับละ 4 บาท ...

“เราได้อดทนพยายามหน่วงเหนี่ยวรักษาราคาเดิมไว้โดยไม่ยอมปริปากให้เสียขวัญ แต่กระดาษมันขึ้นราคาอย่างบ้าคลั่ง....เราต้องจำใจขึ้นราคาเพื่อรักษาคุณภาพไว้ให้ครบครัน เราจำเป็นจำใจต้องรบกวนท่านอีกสองสลึง เพื่อจะเอาหนังสือไว้ให้ยั่งยืน มิได้คิดอ่านค้ากำไรเลย นี่เป็นความสัตย์จริง ขอรับรองด้วยเกียรติฟ้าเมืองไทยและอาจินต์ ปัญจพรรค์”

ทว่า การยืนในราคาฉบับละ 4 บาท ก็อยู่ได้ในเวลาไม่นานกับราคากระดาษที่พุ่งขึ้นสูงขนาดนี้ ดังนั้น อีกประมาณครึ่งปีของปีที่ 5 จึงขึ้นราคาจากฉบับละ 4 บาท เป็นฉบับละ 5 บาท เนื่องจากขาดทุนฉบับละหมื่นกว่า หากจะลดหน้าลง 12 หน้า ปกขาวดำ หนังสือบางเฉียบ เหมือนคนผอมซูบซีด คุณภาพของหนังสือลดฮวบลงทันที แน่นอนที่สุดว่า ผู้อ่านฟ้าเมืองไทยต่างก็เต็มใจกับขึ้นราคาหนังสือเพียงบาทเดียว

ในรอบ 15 ปี จะมีการปรับราคาเป็นระยะตามสภาพเศรษฐกิจและราคากระดาษที่ขึ้นภาษีกระดาษแพงลิ่ว หลังปีที่ 15 ก็ปรับราคาหนังสือเป็นช่วง ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจเหมือนหนังสืออื่น ๆ ในเมืองไทย ในการปรับราคาแต่ละครั้ง เพื่อให้หนังสือยืนหยัดอยู่ได้เป็นความหนักใจและหวานอมขมกลืนของคนทำหนังสือเป็นอย่างมาก ดังที่อาจินต์ บอกเล่าความรู้สึก...

“การขึ้นราคาแต่ละครั้งเป็นความสุขของพ่อค้าและเป็นความทุกข์ของผู้ทำ เราจะใช้คำยังไง จะซ้ำมั้ย เราจะแก้ตัวกับผู้อ่านว่ายังไง....เราได้ศรัทธาจากผู้อ่านไว้ ในการขึ้นราคา ถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว จะร่ายยาวยังไง เขาเลิกซื้อเลย...เราต้องมีประวัติการทำงานที่เขาเมตตา หนังสือถ้าออกใหม่เล่มหนึ่ง ขึ้นราคา เขาไม่เมตตา...ถ้าทำมานาน ๆ เชื่อได้

...ถ้าเราใช้วาทศิลป์หรือจิตวิทยาที่ยโส-พัง ถ้าอ่อนข้อ-พัง ขอเถอะครับ ไม่งั้นเราอยู่ไม่รอด-พัง บอกว่าเราจะอยู่ เราจะไม่เลิก...เราต้องมีค่าเพียงพอ เราถึงขอขึ้น แต่บอกให้เขารู้ ไม่งั้นจะน้อยใจว่า แหม! เล่ากันหน่อยก็ไม่ได้...ถ้างานของเราดีแล้ว เราเขียนคำถึงเขาด้วย ท่านที่เคยปรารภว่าจะไม่ทอดทิ้ง โปรดพิจารณาใหม่อีกครั้ง แค่นี้ มันไม่ได้แพงเลยนี่...”

นอกจากปรับราคาแล้ว ฟ้าเมืองไทยยังปรับเนื้อหาอีกด้วย โดยเพิ่มนวนิยายของนักเขียนระดับลายครามเข้ามา ในจำนวนไม่มากและไม่น้อย ลดสัดส่วนสารคดีและสารนิยายลง แต่เป็นนวนิยายในแบบของฟ้าเมืองไทย  โดยไม่จำเป็นต้องมีพระเอกนางเอก เหมือนนิตยสารผู้หญิง หรือนิตยสารบู๊ที่มุ่งตลาดนวนิยาย

ในปีแรกคือปี 2512 มีนวนิยายของเป็นนักเขียนเก่า ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของฟ้าเมืองไทยดังนี้-เมื่อหิมะละลาย-สด กูรมะโรหิต เด็กบ้านสวน-พ. เนตรรังษี พายุชีวิต-ก. ศยามานนท์ ใต้ถุนป่าคอนกรีตขบวน 2 -’รงค์ วงษ์สวรรค์ ปืนด้ามมุก-ลิขิต วัฒนปกรณ์ แด่คุณครูด้วยคมแฝก-นิมิต ภูมิถาวร เข็ดจริง ๆ ให้ดิ้นตาย-พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ ปีที่ 2 บุญเพรงพระหากสรรค์-ศุภร บุนนาค  ผู้หญิงคนนั้นชื่อเสลา.สร้อยสลับสี-สุวรรณี สุคนธา

ปีที่ 3 เทพธิดาโรงแรม-ณรงค์ จันทร์เรือง สาวยูซ่า-ดาวเดือน ดำรงฤทธิ์ ปีที่ 4 เทพธิดาวารี-ณรงค์ จันทร์เรือง หนุ่มชาวนา-นิมิต ภูมิถาวร ปีที่ 5 นัดไว้กับหัวใจ-ดวงดาว มหานคร มนุษย์ร้อยคุก-คำพูน บุญทวี ฟ้าตำรวจ-ลิขิต วัฒนปกรณ์ ปีที่ 6 นายอำเภอปฏิวัติ-บุญโชค เจียมวิริยะ สร้อยทอง-นิมิตร ภูมิถาวร พันธะชีวิต-เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร(หยก บูรพา)

ปีที่ 7 ลูกอีสาน-คำพูน บุญทวี ท้องนาข้างกรุง-ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ ปีที่ 8 นักเลงป่าซุง-วิชัย ปาลวัฒน์วิไชย ทหารใหม่-ละเอียด นวลปลั่ง ปีที่ 9 เลือดอีสาน-คำพูน บุญทวี สายลมเสียงซอ-นิมิตร ภูมิถาวร ปีที่ 10 คนเผาถ่าน-นิมิตร ภูมิถาวร แม่ผมเป็นชาวนา-แพร โสภิณ

ขอกล่าวถึงพอสังเขปเท่านี้ ปีอื่น ๆ ก็มีทั้งนักเขียนเก่าที่เคยเขียนและนักเขียนคนอื่น ๆ สลับ บ้างเป็นวาระ นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ประจำและเรื่องอิงประสบการณ์ดังนี้ ใน 5 ปีแรกมีเรื่องเด่น

คือ “คนเราตายได้กี่วิธี”-นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรีพ. 27 สายลับพระปกเกล้า-โพยม โรจนวิภาต ขุนชาญอ่านลายสือ-ขุนชาญโหรัพประเทศ แจ๋วเจอผี-แจ๋ว วรจักร(สง่า อารัมภีร) ชนะแน่คือหนี-อ.ก. รุ่งแสง คดีพิสดาร-เปรมชัย

ปีที่ 4 เริ่มตีพิมพ์ชุด ไกด์บางกอก-ต๊ะ ท่าอิฐ ธุรกิจหักเห-ไพฑูรย์  วงศ์วาณิชร ปีที่ 6 ชีวิตห้าแผ่นดิน-พลโทประยูร  ภมรมนตรี ปีที่ 7 ฟ้าอำไพ-อรวรรณ(เลียว ศรีเสวก)  ในปีหลัง ๆ มีมีเรื่อง

ประสบการณ์ชุด จากชีวิตกลางแจ้ง,ย่ำไปใต้ดวงดาว-เพี้ยน พุ่มชะมวง(เธียรชัย ลาภานันต์)จากบ้านสมเด็จสู่ขอบฟ้ากว้าง-ชูศักดิ์ ราศีจันทร์(ชื่อจริงของต๊ะ ท่าอิฐ) เป็นอาทิ

ส่วนเรื่องสั้นที่มีเป็นประจำตามปกติได้แก่เรื่องสั้นเด่น ๆ ของมนัส จรรยงค์ที่นำมาตีพิมพ์ซ้ำและเรื่องสั้นเด่น ๆ ตั้งแต่นักเขียนรุ่นใหญ่ จนถึงรุ่นหลังได้แก่ ชาญ หัตถกิจ ศุภร บุนนาค อุษณา เพลิงธรรม อิงอร เสนีย์ เสาวพงศ์ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว สุวรรณี สุคนธา มนัส สัตยารักษ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน อุดร ทองน้อย ฯลฯ

 

 “โรงงานกลั่นน้ำหมึก เป็นโรงงานเล็ก ๆ เท่ากะโหลกศีรษะ อันเป็นที่บรรจุของนักเขียนแต่ละคน”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)