รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต      

เสร็จสิ้นลงด้วยดีกับผลการเลือก "ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้พบปะข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ รับฟังการรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการแบ่งงานให้กับรองประธานสภาฯ ทั้งสองคน

ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 8 ระบุว่า เมื่อเลือกประธานสภาฯและรองประธานสภาฯได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งประธานสภาฯและรองประธานสภาฯแล้ว ให้เลขาธิการส่งสำเนาประกาศพระบรมราชโองการไปยังวุฒิสภาเพื่อทราบด้วย สำหรับขั้นตอนต่อไป ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมทั้งสองสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งประธานรัฐสภากำหนดให้มีการเลือกนายกฯ เป็นวันที่ 13 กรกฎาคม นี้

ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรรคแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้นัดประชุมที่อาคารรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ค. โดยเป็นการนัดประชุมร่วม 3 ฝ่าย ทั้งคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา แกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และแกนนำพรรคขั้วรัฐบาลเดิม เพื่อหารือและชี้แจงความพร้อมในการประชุมร่วมรัฐสภา รวมถึงการวางแนวทางการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า กกต. (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) อาจจะส่งประเด็นการถือหุ้นสื่อ ITV จำนวน 42,000 หุ้น ของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาช่วงวันที่ 11-13 ก.ค. นี้ ว่าเข้าข่ายผิดคุณสมบัติ การลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ ซึ่งถ้าข่าวดังกล่าวมีมูลจริงก็มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ด้วย

เพื่อเป็นการวัดความคิดเห็นและความรู้สึกของคนไทยหลังจากได้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯครบองค์แล้ว “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “คนไทยกับการเมืองไทยหลังจากได้ประธานสภาฯ” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,078 คน สำรวจระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 ผ่านข้อคำถาม 6 ข้อ คือ

1) ท่านรู้สึกอย่างไรกับการเมืองไทยในช่วงนี้ 2) ท่านคิดว่าปัญหาและอุปสรรคของ “รัฐบาลใหม่” คืออะไร 3) ท่านคิดว่าควรทำอย่างไรการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงจะราบรื่น 4) หลังจากได้มีการเลือกประธานสภาฯไปเรียบร้อยแล้ว ท่านคิดว่า “การเลือกนายกรัฐมนตรี” จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ 5) หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว ท่านอยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขปัญหาใดบ้าง  และ 6) ความในใจที่อยากบอกรัฐบาลใหม่

ผลการสำรวจ พบว่า ความเห็นต่อการเมืองไทยในช่วงนี้ คือ อยากเห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ร้อยละ 71.65 โดยมองว่าปัญหาและอุปสรรคของ “รัฐบาลใหม่” คือ  การจัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป ร้อยละ 68.32 ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าของพรรคการเมือง ร้อยละ 78.52

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.12 คาดว่า “การเลือกนายกรัฐมนตรี” ไม่น่าจะราบรื่น และหากได้รัฐบาลใหม่แล้ว ก็อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ ร้อยละ 77.35 ส่วนความในใจของประชาชนที่อยากบอก “รัฐบาลใหม่” คือ ขอให้ตั้งใจทำงาน ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ สร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม ร้อยละ 43.05

ทั้งนี้ นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล ได้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลโพลดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ช่วงนี้ประชาชนติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด แม้จะเบื่อหน่ายกับระบบที่กว่าจะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังเฝ้ารอและจับตามองว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเคลื่อนไหวส่งสัญญาณอย่างไรต่อไป และมองว่าจากการเลือกประธานสภาฯยังคงเป็นการเมืองแบบเก่าที่เน้นเล่นเกมการเมือง ซึ่งเสียงของประชาชนบอกผ่านผลโพลว่า “อย่ามุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน ให้ตั้งใจทำงาน เร่งแก้ปัญหาปากท้องโดยเร็ว”

ด้าน รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ให้ความคิดเห็นต่อผลสำรวจด้วยเช่นกันว่า ผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากมีความสนใจและตื่นรู้การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยเฉพาะห้วงเวลา หลังการเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภา) การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร / สภาล่าง + วุฒิสภา / สภาสูง = รัฐสภา) รวมถึงความสนใจของคนไทยต่อการจัดตั้งรัฐบาล และใครและพรรคใดจะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดบ้าง นอกจากนี้ผลโพลยังชี้ให้เห็นทิศทางและแนวโน้มทางการเมืองไทยว่า เป็นเรื่องของการยื้อแย่งอำนาจและความพยายามในการเจรจาต่อรอง ในขณะที่ภาคประชาชนนั้นต้องการให้รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ควรตระหนักและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพรรคการเมืองของตนเอง

หากการเมืองไทยนิ่งและเข้มแข็ง รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่รวดเร็วเพื่อเข้ามาบริหารจัดการบ้านเมืองได้ไวแล้ว เมื่อนั้น คนไทยทุกฝ่ายก็จะเทจับตาพิสูจน์ผลการทำงานของรัฐบาลใหม่ว่าเป็นไปตามดังนโยบายที่หาเสียงและแถลงไว้มากน้อยเพียงใด ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากเสียงประชาชนจะทำให้คนไทย “สมหวัง” กันมาก ๆ นะครับ...