ทวี สุรฤทธิกุล

คนหนุ่มสาวในช่วงวัยรุ่นคือความรุนแรง แต่ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสังคมรายรอบ

ก่อนวันที่จะมีการเลือกประธานรัฐสภา ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปร่วมวิเคราะห์เรื่องนี้ในรายการวิเคราะห์การเมืองของโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ผู้ที่โทรมาเชิญบอกว่าได้เชิญวิทยากรอีก 2 ท่านมาร่วมโดยเอาคนที่มีอายุอานามในวัยที่ใกล้กัน ซึ่งก็คือค่อนข้างจะอาวุโส ด้วยต้องการความคิดเห็นต่อการเมืองสมัยใหม่จากความคิดเห็นของคนรุ่นเก่า ที่ตอนแรกผู้เขียนก็ออกจะเคือง ๆ แต่ก็ตอบรับไปเพราะอยากจะแสดงให้เห็นว่า “ถึงจะแก่แต่ไม่เก่า”

วิทยากรท่านแรกมองว่า ส.ว.ส่วนใหญ่คือ “ข้าราชการเก่า” ที่มีที่มาจากผู้นำกลุ่มเดียวกัน คือ ค.ส.ช. ดังนั้นถ้า ค.ส.ช.สั่งให้โหวตอย่างไรก็จะทำตามนั้น และขอให้มองข้ามการโหวตประธานรัฐสภาไปเลย ไปดูที่การโหวตนายกรัฐมนตรีนั้นเลยดีกว่า ทั้งนี้กลุ่มพรรคร่วม 8 พรรคก็มีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย และพรรคนี้ต้องการที่จะไปปฏิรูประบบราชการ รวมถึงแตะต้องกองทัพ ส.ว.ก็คงจะไม่โหวตให้ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะไม่ใช่นายพิธา ส่วนวิทยากรอีกท่านหนึ่งมองว่า การเมืองไทยมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลึกลับซับซ้อน และขอมองข้ามการโหวตประธานรัฐสภาเช่นกัน แต่ต้องมาจากทหาร เพราะรัฐไทยคือรัฐข้าราชการ โดยที่จะมีการพลิกขั้วสลับขั้วกันไปมา และการเมืองไทยยังจะอยู่ในฝันร้าย และอาจจะนำมาซึ่งความรุนแรงต่าง ๆ

ผู้เขียนเสนอมุมมองว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 น่าจะแสดงให้เห็นถึง “จุดเปลี่ยน” ของการเมืองไทย นั่นคือการระเบิดขึ้นของ “พลังคนรุ่นใหม่” ที่ไม่ชอบระบบการเมืองแบบเก่า ไม่เอาเผด็จการทหาร และต้องการปฏิรูประบบราชการ การจับมือกันของพรรคก้าวไกลกับพันธมิตรอีก 7  พรรคการเมือง ด้วยท่าทีที่จริงจัง คือการแสดงออกที่จะทำให้สาธารณชนเห็นถึงพลังดังกล่าว ที่ผูกมัดกันไว้อย่างค่อนข้างมั่นคง ที่ผู้เขียนเรียกว่า “สัญญาใจ” ดังจะเห็นได้จากความจริงจังที่จะร่วมรัฐบาลให้สำเร็จเสร็จสิ้น แม้จะต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมาย การตั้งคณะทำงานจัดทำนโยบายร่วมกัน และดูท่าทีมีการประนีประนอมประสานประโยชน์กันด้วยดี ดังที่ได้เห็นว่าเมื่อมีความขัดแย้งในเรื่องใด ก็จะมีการมาประชุมพูดคุยเพื่อระงับข้อขัดแย้งนั้นโดยเร็ว ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่ากลุ่มพรรคร่วมทั้งแปดนี้จะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ ส.ว.จำนวนหนึ่งก็จะหันมาโหวตให้ เพื่อยืนยันถึงความชอบธรรมทางการเมือง รวมถึงที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าแม้จะมาจาก ค.ส.ช. แต่ก็ขอยืนอยู่ข้างระบบที่ถูกต้องนั้นมากกว่า เพราะ ส.ว.หลายท่านก็มีประวัติอันดีงาม รวมทั้งอีกหลาย ๆ ท่านก็ไม่อยากมีประวัติมัวหมองว่า สนับสนุนเผด๊จการจนไม่มองความถูกต้อง

ล่าสุดก็เป็นไปอย่างที่ผู้เขียนและคนส่วนหนึ่ง(ที่มองเห็นพลังของการเปลี่ยนแปลง)มีความเชื่อ ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้แก้ไขความขัดแย้งเรื่องการเสนอชื่อประธานรัฐสภา ที่สุดก็ได้คนกลางคือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่มพรรคร่วม 8 พรรค ทำให้พวกที่ยึดในแนวคิดเก่า(คือยังเชื่อในเรื่องพลังของระบบราชการ อำนาจของกองทัพ และการเมืองยุคเก่า)เกิดความว้าวุ่น เพราะในทันทีที่ว่าที่ประธานรัฐสภาได้แจ้งวันประชุมที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีว่าเป็นวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ก็มีการปล่อยข่าวเรื่องข้ออุปสรรคต่าง ๆ ที่จะไม่ให้นายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งยังมีข่าวว่าจะเสนอคนที่อยู่ในอีกขั้วมาแข่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ถึงขั้นที่มีการใช้ว่า “ข้อมูลใหม่ - ดินฟ้าอากาศ” ที่เกี่ยวข้องกับเบื้องสูง ร่วมกับการเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ดังกล่าว

ปรากฏการณ์ของการต่อสู้ดังกล่าว ผู้เขียนอยากจะเรียกว่า “สงครามความคิดแบบเก่า VS แบบใหม่” ที่คนในสังคมไทยน่าจะแบ่งเป็น 2 พวก คือพวกที่เชื่อในระบบเก่าว่ายังมีพลังอำนาจมากอยู่ จนแม้แต่จะเริ่มมีหลายสิ่งหลายอย่างที่แสดงว่าอำนาจเก่านั้นกำลังถูกท้าทาย แต่คนพวกนี้ก็ยังเชื่อว่าจะไม่สามารถเอาชนะพลังอำนาจในระบบเก่านั้นได้ อีกพวกหนึ่งก็คือพวกที่เชื่อว่าระบบเก่ากำลังเสื่อมถอย การยึดโยงอำนาจในกลุ่มอำนาจเก่าเป็นการแอบอ้างเพื่อหาประโยชน์ระหว่างกันและกัน ในขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังเติบโตและแผ่ขยายเข้าไปในสังคมต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ และเพิ่มพลังอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน จึงเหมือนกับธรรมชาติทั้งหลาย ที่สิ่งใหม่ ๆ ต้องเข้ามา “แทนที่” สิ่งเก่า ๆ

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า “การแทนที่” ของคนรุ่นใหม่พวกเขาจะเข้ามาในรูปแบบใด ?

เมื่อมองพฤติกรรมของพรรคก้าวไกล แรก ๆ หลาย ๆ คนก็ดูจะตกใจและไม่สบายใจ ที่เห็นความร้อนรนในการนำเสนอนโยบายที่ดุเดือดแข็งกร้าว โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ระหว่างนี้ที่มี ส.ว.บางคนออกมาทำท่าขึงขังว่าจะไม่เลือกคนของพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลเองก็ดูจะออกอาการรอมชอมอยู่พอสมควร นั่นก็แสดงว่าพรรคก้าวไกลก็พยายามที่จะ “อยู่ให้เป็น” ด้วยการลดความแข็งกร้าว และเพิ่มเพิ่มความอ่อนน้อมผ่อนปรน ซึ่งก็ทำให้คนที่ไม่ชอบความรุนแรงทางการเมืองรู้สึกสบายใจ และเห็นว่าสังคมไทยน่าจะมีทางออก และการเมืองไทยก็น่าจะดำเนินต่อไปด้วยดี

ที่จริงแนวคิดเรื่อง “ความอ่อนน้อมผ่อนปรน” ก็เป็นแนวคิดเก่าของสังคมไทยมาแต่โบราณเหมือนกัน อย่างเช่นนโยบายทางการทูตของไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เราก็ใช้นโยบายนี้มาตลอด ซึ่งมีอีกชื่อว่า “นโยบายไผ่ลู่ลม” เราจึงอยู่รอดเป็นชาติที่รักษาเอกราชเอาไว้ได้ ไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจใด ๆ หรือที่ร่วมยุคสมัยกับการเมืองไทยยุคใหม่ ก็คือในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ ส.ว.กับ ส.ส. ช่วยกันประคับประคองการเมืองให้มีเสถียรภาพอยู่ได้กว่า 9 ปี ทำให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองในหลาย ๆ ด้าน อย่างที่เรียกชื่อยุคนั้นว่า “โชติช่วงชัชวาล”

นักการเมืองรุ่นใหม่น่าจะมองเห็นถึง “แก่นสังคมไทย” ในเรื่องการประสานประโยชน์นี้ และคงจะประคับประคองสถานการณ์ต่าง ๆ ให้คลี่คลายไปด้วยความเรียบร้อยและนุ่มนวล สมกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่พระราชทานสัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศไว้ว่า “Thailand is the land of compromise.”