ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผลโพลค่อนข้างแม่นยำ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง กับการสะท้อนกระแสความนิยมส่วนตัว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือ พิธาฟีเวอร์ ส่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นไปตามความคาดหมาย

เมื่อสังคมต้องเผชิญกับปรากฏการณ์หยก ที่เกิดการเคลื่อนไหว ของเยาวชนอายุ 15 ที่ทำตัวผิดระเบียบทั้งย้อมผม และแต่งชุดไปรเวท

มุมมองนักวิชาการบางส่วนเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนไปถึงปัญหาสังคมและการศึกษาไทย และมองว่าเครื่องแต่งกายและทรงผมเป็นเพียงกระพี้ ไม่ใช่แก่นสาร

กระนั้น ก็น่าสนใจท่ามกลางแรงกระแทกของปรากฏการณ์หยก และปรากฏการณ์จากสื่อที่ติดตามนำเสนอข่าวหยกชนิดเกาะติด

มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จากศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “สิทธิ เสรีภาพ และกฎระเบียบในโรงเรียน”

โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพและกฎระเบียบในโรงเรียน

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนยังคงให้ความสำคัญ ต่อเครื่องแบบนักเรียน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 80.53 ระบุว่า เพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัย รองลงมา ร้อยละ 35.65 ระบุว่า เป็นการบ่งบอกถึงสถานศึกษาของนักเรียน ร้อยละ 23.82 ระบุว่า เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ร้อยละ 21.76 เป็นต้น ในจำนวนนี้มีเพียง  ร้อยละ 4.73 ที่มองว่าเป็นการแบ่งชนชั้น  และร้อยละ 2.60 ระบุว่าเป็นเครื่องหมายของการกดขี่/อำนาจนิยม

ซึ่งใครที่ติดตามข่าวปรากฏการณ์หยกนี้ ก็จะคุ้นๆกับคำนี้ ที่เธอใช้อยู่สม่ำเสมอ ที่ก็อาจจะได้ยินได้ฟังคำนี้มาจากนักการเมืองบางคนในห้วงเวลาที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ผลสำรวจตั้งเอาไว้เป็นคำถามกับกลุ่มตัวอย่าง ต่อแนวคิดยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน กลับพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 59.47 ยังเห็นว่าการบังคับให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนควรมีต่อไป รองลงมา ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ในรอบสัปดาห์ควรอนุญาตให้ใส่ชุดอื่น ๆ (ชุดไปรเวต) ไปโรงเรียนได้บ้าง และมีเพียงร้อยละ 4.27 ระบุว่า สมควรยกเลิกการใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน

ทั้งนี้ ทั้งนั้น เกินครึ่งจากการการกระเทาะเสียงของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังเห็นพ้องว่าไม่ควรยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่หยกเอง และผู้เกี่ยวข้องต้องสดับตรับฟังอยู่เหมือนกัน ส่วนจะมีการสำรวจครั้งต่อไปหรือไม่ และแปรผลจะเป็นอย่างไร คนจะหนุนให้ยกเลิกมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าเดิม  โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ข่าวสารเกี่ยวกับหยกจางลง รวมทั้งบรรยากาศการเมืองผ่อนคลายขึ้น