ณรงค์ ใจหาญ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก จากรายงานของ UNEP World Conservation Monitoring Centre 2004 และเราได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของป่าไม้ หรือทรัพยากรธรรมชาติ ในทางเศรษฐกิจ อาหาร และยา ด้านสุขภาพ และวัฒนธรรมอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ความสูญเสียจำนวนชนิดพืช สัตว์จึงเป็นผลจากการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะเพื่อยังชีพและเพื่อธุรกิจโดยเฉพาะการส่งออกอันเป็นรายได้ของประเทศ ในขณะที่เราใช้ประโยชน์จากความหลายหลายทางชีวภาพเป็นจำนวนมาก เราก็เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย ชนิด พืช สัตว์ หรือพื้นที่ป่าไม้ถาวร ป่าอนุรักษ์ พื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล ให้เสื่อมสภาพ เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลกระทบถึงจำนวนและปริมาณของผลผลิตพืชและสัตว์ หรือการลดลงของป่าไม้อย่างรวดเร็ว อันส่งผลกระทบต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแนวทางสากลที่จะลดความสูญพันธุ์นี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ สาเหตุหลักในการทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินขีดจำกัด ได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่าเกินขีดจำกัด การทำประมงเกินศักยภาพของผลผลิตที่ได้ การล่าสัตว์ป่าและลักลอบค้าสัตว์ป่าหรือสัตว์หายาก เป็นต้น เพราะกิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดรายได้ของคนที่ได้รับผลผลิตจากป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรทางทะเลจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังพบว่า การที่รัฐมีนโยบายผลิตเพื่อส่งออกข้าว ผลไม้ หรือการส่งอาหารทะเลสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออก รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากร และจำนวนป่าไม้ที่ถูกตัดเพื่อเป็นพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกร ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จึงขาดที่ดินทำกิน จึงต้องหักล้างถางป่าเพื่อทำการเพาะปลูก และพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายมักจะเป็นพื้นที่ป่า ส่วนการก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทำให้สัตว์น้ำอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทำให้จำนวนปริมาณสัตว์น้ำลดลง เช่นเดียวกัน สาเหตุที่สำคัญอีกประการคือ ประชาชนและชุมชนมีความตระหนักในความสำคัญของความมีอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพหรือไม่ และบทบาทของประชาชน และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์หรือการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร คำตอบ คือ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ความตระหนักของประชาชนหรือชุมชนที่จะเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ยังมีอยู่น้อย นอกจากนี้ หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ เป็นหลัก แต่โดยสภาพนั้นความหลากหลายทางชีวภาพจะมีความคงอยู่อย่างยั่งยืนได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน มิใช่มอบให้เป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว เพราะมีพื้นที่ที่ต้องรักษามากเกิดศักยภาพที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐจะสามารถรับผิดชอบได้โดยลำพัง พันธกรณีของประเทศไทยต่อการคุ้มครองความหลายหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทย เข้าอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อ ปี พ.ศ. 2546 และเป็นสมาชิกถาวรในเดือน มกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งหลังจากเข้าให้สัตยาบันแล้ว ประเทศไทยได้พัฒนากฎหมายและกำหนดแนวนโยบายของรัฐเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏหลักการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในกฎหมายสูงสุดของไทยคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และมีกฎหมายที่แก้ไขมาได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พันธุ์พืชดั้งเดิม การอนุรักษ์พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พันธุ์พืช การอนุรักษ์สัตว์ป่าหายาก สัตว์ป่าหรือพันธุ์พืชที่เป็นอันตรายและจะนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงประกาศพื้นที่คุ้มครองมากขึ้น ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ในเชิงกำหนดพื้นที่คุ้มครอง และพืชหรือสัตว์พื้นเมืองหรือดั้งเดิมที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์ หรือรุกรานจากสัตว์หรือพืชต่างถิ่น การกำหนดแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแผนแม่บททางด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว และได้มีการกำหนดแผนแม่บทบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพจนถึงปัจจุบันเป็นแผนที่สี่ ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ ปี 2558-2564 ซึ่งแผนดังกล่าวได้กำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจตลอดจนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนจัดการความหลายหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ 20 เป้าหมายหลัก (Strategic Plan for Biodiversity 2011-2020 and 20 Aichi Biodiversity Targets) โดยมีวิสัยทัศน์ ที่กำหนดไว้ว่าภายในปี 2564 ประชาชนจะมีชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องปรองดองกับธรรมชาติ โดยรัฐบาลและทุกภาคส่วนร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งในแผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดพันธกิจสองประการ คือ บูรณาการการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพและหยุดยั้งความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการมีส่วนร่วมในทุกระดับ และประการที่สอง ยกระดับความสำคัญในเชิงนโยบายและการบริหารจัดการ เสริมสร้างความตระหนักของสังคมเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการดำรงชีพและดำรงชีวิตของประชาชน และได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4 ด้าน และมาตรการ 11 มาตรการเพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ของการบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จด้วย การจัดการและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่อาจดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมหากขาดความร่วมมือกับประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ความตระหนัก ความเข้าใจ และดำเนินการตามกลไก กลยุทธ์ในการอนุรักษ์เพื่อเป้าหมายในการรักษาไว้ซึ่งชนิดพันธุ์พืช และสัตว์อย่างยั่งยืน ความร่วมมือในทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรต้องมีการกระจายความร่วมมือในระดับท้องถิ่น และกำหนดไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ ในด้านการสร้างความตระหนักหรือค่านิยมในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ จะต้องได้รับการปลูกฝังในทุกระดับตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา รวมถึงมีการเผยแพร่สร้างความเข้าใจและความตระหนักในคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของความมีอยู่ของความหลายหลายทางชีวภาพ มิฉะนั้น การนำผลิตภัณฑ์ของพืชและสัตว์ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพหรือทางธุรกิจการค้าจะนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะขาดหลักการเรื่องการใช้อย่างชาญฉลาด นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาจะต้องให้ความสนใจอีกประการคือ การตักตวงผลประโยชน์จากการใช้พืชสมุนไพร ที่มีอยู่ในประเทศไทย และต่างชาติเข้ามาสำรวจ หรือแฝงตัวเข้ามาศึกษาแล้วนำไปหาประโยชน์ทางด้านการค้าเช่นไปจดสิทธิบัตรยา เป็นต้น ซึ่งความจริงแล้วเป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และตามอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิทธิที่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของสมุนไพรนั้นจะต้องได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรม มาตรการแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นประเด็นท้าทายที่ประเทศไทยต้องมีมาตรการเฝ้าระวังและคุ้มครองสิทธิชองประเทศไทยที่จะคุ้มครองมิให้ประเทศอื่นๆ มาละเมิดและตักตวงผลประโยชน์นี้ต่อไป