“บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว” ประโยคข้างต้นนั้น แสดงความหมายและอารมณ์ มีทั้งประชดประชัน  ปล่อยวางอยู่ในนั้น

โดยเมื่อลองนำมาประกอบกับคำอื่นๆ เช่น “ช่างมันเถอะ บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว” “ทำใจเสียเถิด บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว”  “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว”

อย่างไรก็ตาม แม้ประโยคต่างๆข้างต้น จะไม่ได้แสดงอาการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ หากแต่ก็สะท้อนภาวะจำยอม เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ดีไปกว่า ปลดปลงกับความไม่เที่ยง และเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ

ทว่า หากประกอบด้วยคำว่า “บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว และไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง”  ก็จะได้เห็นอารมณ์เตือนสติ ไม่ให้สำคัญตัวผิดไป หรือผูกขาด

และถ้าจะขยายความเพิ่มข้าไปอีกว่า “บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว และไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน”  ก็จะให้ความหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ถูกเปรียบเทียบว่า เป็น “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” ก็อาจไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินเลยนัก จากทฤษฎีตัวเลขของจำนวนส.ส.ที่ได้รับการเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างมาก ไม่ว่าจะมากด้วยจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม 

นโยบายสุดโต่งของพรรคการเมืองเสียงข้างมากนั้น เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลของผู้คนที่เห็นต่าง

“บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น” นั่นก็เป็นอีกประโยคที่อื้ออึงในห้วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองของเรา ผ่านวันที่ 24 มิถุนายนมาเป็นครั้งที่ 91  ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันสำคัญสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยตาม รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ที่เรียกว่ากันในวันนี้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (อ้างอิง ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=24_%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%...)

ไม่ว่าสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2475 จะถาโถมแค่ไหน และไม่ว่าสายลมในปี 2566 จะรุนแรงเพียงใด เชื่อว่า พลเมืองทุกคน มีหน้าที่ในการช่วยกันดูแลบ้านเมือง ไม่ให้บ้านหลังนี้ต้องพินพัง