ทวี สุรฤทธิกุล

คุณพิธาน่าจะบุญไม่ถึง แล้วตำแหน่งนายกฯอาจจะไปได้กับตาอยู่ เอ๊ย “ตาหนู”

ด้อมส้มอาจจะต้องเตรียมทำใจ ถ้าเผื่อว่าคุณพิธาเกิด “มีอันเป็นไป” ด้วยเหตุที่ถูกถล่มเรื่องการขาดคุณสมบัติที่จะมาเป็นทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถึงแม้ว่าคุณพิธาอาจจะรอดพ้นจากข้อคดีต่าง ๆ ทั้งหลายได้ในตอนท้าย แต่ในตอนนี้ที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน สภาอาจจะให้ “ใบแดง” คุณพิธา จนอาจจะไม่ได้รับการเสนอชื่อในขั้นตอนของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผู้เขียนเอา “กระแสการเมือง” มาเป็นหลักในการคาดเดาข้างต้นนี้ และ “ใบแดง” ที่ว่าก็คือ การคัดค้านของสมาชิกในสภาที่จะไม่ให้มีการเสนอชื่อคุณพิธา ด้วยอิทธิพลของ “พวกอำมาตย์” ที่ยังคงมีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองไทย

“กระแสการเมือง” ที่กำลังพูดถึงนี้เป็นกระแสที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาเกือบ 20 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ตั้งแต่ที่ได้ไปร่วมขบวนการต่อต้านรัฐบาลทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือขบวนการเสื้อเหลือง นานกว่า 6 เดือน จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายนปีนั้น

ตอนนั้นผู้เขียนเป็นคณบดีรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมให้กำลังใจท่านศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ที่เป็นคณะบดีรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านการขายหุ้นของชินคอร์ปให้เทมาเสก กลุ่มนักวิชาการจึงได้ทำการเคลื่อนไหวจัดตั้งเป็นกลุ่ม “คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย” (ควป.) โดยมีอาจารย์และนักวิชาการจากหลาย ๆ มหาวิทยาลัยมาร่วมกัน ด้วยการจัดอภิปรายไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งก็สามารถสร้างกระแสได้มากพอสมควร

เรื่องการขายหุ้นโดยไม่เสียภาษีสักบาทเดียวนี้ ได้ขยายตัวเป็นการต่อต้านระบอบทักษิณ นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนก็ได้ไปร่วมขึ้นเวทีปราศรัยของพวกเสื้อเหลืองนี้อยู่หลายครั้ง ตอนนั้นก็เริ่มมีข่าวระแคะระคายแล้วว่า ขบวนการเสื้อเหลืองนี้มี “อำมาตย์” ให้การสนับสนุน

คำว่า “อำมาตย์” ในตำรารัฐศาสตร์ที่ผู้เขียนได้ร่ำเรียนมา หมายถึงกลุ่มชนชั้นสูงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการชั้นสูงที่ครอบงำอำนาจทางการปกครอง ซึ่งในประเทศไทยจะหมายถึง “ทหาร”  และตำรารัฐศาสตร์ยังเรียกการปกครองของไทยในยุค 2490 – 2516 ที่ปกครองโดยคณะทหารมาโดยตลอดนั้นว่า “อำมาตยาธิปไตย” อีกด้วย ซึ่งผู้เขียนก็เชื่ออย่างนั้นมาจนถึงได้ไปร่วมกิจกรรมกับพวกเสื้อเหลือง ก็จึงได้ทราบว่ามันมีความหมายเปลี่ยนไป

“อำมาตย์” ที่สนับสนุนคนเสื้อเหลืองรวมหมายถึงชนชั้นสูงจากหลาย ๆ วงการ ตั้งแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเชื้อพระวงศ์ นักธุรกิจใหญ่ อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ สื่อมวลชน และ “คนดัง” จำนวนหนึ่ง พวกนี้จะมีการเชื่อมโยงกันอย่างลับ ๆ นัยกว่าเพื่อปกป้องสถาบัน แต่หลักใหญ่แล้วก็เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตน

อิทธิพลของอำมาตย์กลุ่มนี้มาปรากฏชัดในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะคนในกลุ่มอำมาตย์หรือที่อำมาตย์สนุบสนุนได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นจำนวนมาก ในรูปแบบของการจัดแบ่ง สนช.ออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มนักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปในกลุ่มนักวิชาการนี้ โดยได้ทราบต่อมาว่ามีอำมาตย์กลุ่มหนึ่งคอยทำหน้าที่คัดสรร โดยจะมีผู้ที่คอยทำหน้าที่ประสานงานในแต่ละกลุ่ม โดยอ้างพันธกิจหลักว่า “ทำลายระบอบทักษิณ”

รายละเอียดเรื่องการใช้อิทธิพลของกลุ่มอำมาตย์ในสมัยปี 2549 - 2551 ที่ผู้เขียนได้ร่วมอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในตอนนั้นยังมีอีกมาก แต่ขอรวบลัดตัดตอนมาถึงขบวนการ กปปส.ในปี 2556 ที่ผู้เขียนก็ได้เข้าไปร่วมด้วยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ยังสัมผัสได้ถึงอิทธิพลของกลุ่มอำมาตย์กลุ่มเดิมนั้น โดยเฉพาะการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผู้นำของ กปปส.บางคนก็ทราบดีว่าได้มีการประสานงานกับทหารในกลุ่มอำมาตย์เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจนั้นไว้อย่างไร เพียงแต่ฝ่าย กปปส.ไม่ทราบว่าจะเป็นวันที่ 22 พ.ค. 2557 เท่านั้น แต่เมื่อทหารได้ยึดอำนาจแล้วก็มีการแบ่งสรรตำแหน่งต่าง ๆ ภายใต้การกำกับของกลุ่มอำมาตย์นั้นอยู่เช่นเดิม ผลผลิตที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ ที่ปฏิเสธได้ยากว่าเป็น “กล่องแพนดอร่า” ที่จะควบคุมอำนาจทางการเมืองไทยให้อยู่ในมืออำมาตย์นี้ไปอีกนาน

ตัดฉากมาที่เรื่องของคุณพิธาในวินาทีนี้ ที่กำลังลูกผีลูกคนว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่?

ขบวนการตัดขาคุณพิธาน่าจะมีกลุ่มอำมาตย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งกลุ่มอำมาตย์ที่น่ากลัวที่สุดก็คือพวก “กลุ่มทุนยุคใหม่” ที่มีกำเนิดมาจากการล่มสลายของระบอบทักษิณ(แต่ไม่ได้สิ้นสลายหมดไป)ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ซึ่งบ้างก็ว่าบางกลุ่มก็แตกตัวมาจากระบอบทักษิณ(ในลักษณะที่เป็น “นอมินี”) หรือสร้างตัวขึ้นใหม่เมื่อไม่มีระบอบทักษิณมาผูกขาด รวมถึงข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งที่อยู่ในอำนาจและเกษียณราชการแล้ว แต่ยังมีอำนาจมากอยู่ในหมูทหารรุ่นน้องและลิ่วล้อบริวารที่มาจากหลาย ๆ วงการ โดยเฉพาะพวกกลุ่มทุนและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ที่ยังคอยเกาะกุมระบบราชการทำมาหากินร่วมกันนั้นอยู่

กลุ่มพวกนี้แหละที่เกาะกุมอำนาจอยู่ในรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้ตำแหน่งเข้ามาโดยอาศัยบารมีของอำมาตย์เหล่านี้ ซึ่งเชื่อกันว่าในวันที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.กลุ่มใหญ่นี้จะหาเหตุผลว่าไม่ควรเสนอชื่อคุณพิธา หรือถ้าหากพรรคก้าวไกลยังเสนอเข้ามาก็จะถูกตีให้ตกไป

มีข่าวว่ากลุ่มอำมาตย์จะให้ ส.ว.สนับสนุนนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่จะมีสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยนั่นเองเป็นผู้เสนอ ซึ่งก็คาดการณ์ว่านายอนุทินน่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

เรื่องนี้มีรายละเอียดที่อยากจะมาเสนออีกพอสมควร แต่รอให้นายอนุทินได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นแค่ “นายกรัฐมนตรีเงา” คอยรักษาสถานการณ์ให้ใครบางคน

วันหนึ่ง “เขา” ก็จะปรากฏตัวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ นั้นแหละคือ “ติ่งอำมาตย์” ตัวจริง