เสือตัวที่ 6
ย่างก้าวสำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ล้วนดำเนินการอย่างมีเอกภาพและมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนคือการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐสู่การปกครองดูแลกันเองของคนในพื้นที่ การขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐไม่อาจเอาชนะได้ด้วยอาวุธหรือ การใช้กำลังเข้ายื้อแย่งอำนาจรัฐไปด้วยการเอาชนะกองกำลังทหารและฝ่ายความมั่นคงของรัฐไปได้ แต่กระนั้น การต่อสู้ด้วยอาวุธก็ยังคงเป็นสภาวะหนึ่งของเงื่อนไขการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองกันเองด้วยคนในพื้นที่เองจากหลักการสากลที่เรียกกันว่าสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Right to Self Determination: RSD) โดยสิทธิ RSD ดังกล่าว ได้ถูกบรรจุไว้ในสหประชาชาติ ครั้งแรกคือมติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธ.ค. ค.ศ. 1960 เรื่อง การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 ของมติดัง กล่าวว่ากลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยหลักการที่จะกำหนดใจตนเอง (RSD) ได้นั้น ต้องอยู่ทั้ง 4 เงื่อนไข คือ 1. เป็นพื้นที่ที่มีการขัดแย้ง (การต่อสู้) ด้วยอาวุธอย่างรุนแรง 2. มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว่างขวาง 3. เป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง 4. เป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง (สิทธิความเป็นเจ้าของ)
การชูประเด็นวาทะกรรมปาตานี เพื่อขับเคลื่อนงานการเมือง ในการกำหนดใจตนเอง (RSD) รวมทั้งการผลิตสื่อสังคมออนไลน์โจมตีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โฆษณาชวนเชื่อทั้งภายในและต่างประเทศ ใช้การบิดเบือนข้อมูลให้เห็นว่ารัฐบาลไทยปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมในด้านลบ ปลุกกระแสชาตินิยมและสร้างความเกลียดชังระหว่างคนต่างศาสนาให้กับกลุ่มเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ให้ต่อต้านอำนาจรัฐ ขยายผลสู่องค์กรระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายมวลชนและแนวร่วมที่แอบแผงอยู่กับองค์กรภาคประชาสังคมจะเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติ ร่วมกับการสร้างสถานการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธโดยการหล่อเลี้ยง ความรุนแรงให้ดำรงอยู่ต่อไป คู่ขนานกับการจัดกิจกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ โดยสร้างภาพให้เชื่อว่าเป็นการทำงานด้านสันติวิธีและด้านสิทธิมนุษยชน หากแต่มุ่งเน้นกิจกรรมปลุกกระแสอัตลักษณ์ ความมีตัวตนของขบวนการโดยเฉพาะกลุ่ม BRN อันเป็นตัวการหลักของเรื่องราวทั้งหมดของการต่อสู้เพื่อเอกราชตามนัยยะของขบวนการแห่งนี้
การฉกฉวยโอกาสในขณะที่บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงการเมืองระดับชาติที่กำลังสร้างกระแสสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การเลือกตั้งผู้ปกครองสูงสุดระดับจังหวัดด้วยคนในพื้นที่เอง จึงเป็นโอกาสจังหวะทองของการเปิดปฏิบัติการรุกทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้สังคมออนไลน์เป็นช่องทางแสดงตนในการอ้างความเป็นตัวแทนประชาชนชาวมลายูปัตตานี เพื่อความชอบธรรมในการต่อสู้พร้อมกับเสนอข้อเรียกร้องที่อ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชนสู่การรับรู้ของสาธารณะ โดยอาศัย การดำเนินงานของกลุ่มแนวร่วมสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม PerMAS ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม พยายามมุ่งสู่หลักการสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (RSD) จนกระทั่งมาถึงเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว มีการเปิดตัวแสดงแทนที่เรียกตนเองว่า ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ นั่นแสดงให้เห็นว่า BRN เร่งเดินงานการเมืองตามแนวทางสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (RSD) มากยิ่งขึ้น
จากยุทธศาสตร์ให้รัฐบาลแพ้จากภายในและการเอาชนะจากภายนอกของกลุ่ม BRN นี้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องเน้นงานสงครามการเมือง ที่ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมแบบสุดโต่ง และความเข้าใจผิดในหลักศาสนา (ดารุลฮัรบี) ไปพร้อมกับการปฏิเสธการอยู่ร่วมกันในสังคม พหุวัฒนธรรม กับสังคมใหญ่ของชาติ ร่วมกับการก่อเหตุรุนแรงตามโอกาสอำนวย โดยมุ่งสู่การทำลายระบบแห่งรัฐ กับส่งสัญญาณความขัดแย้งด้วยอาวุธ ออกสู่การรับรู้ในประชาคมระหว่างประเทศ การก่อเหตุรุนแรงจึงมุ่งกระทำต่อเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐมากขึ้น เน้นคุณภาพของการ ก่อเหตุมากกว่าปริมาณ และการก่อเหตุรุนแรงจะต้องทำเพื่อหนุนเสริมงานการเมือง ทั้งต่อประชาคมระหว่างประเทศและประชาชนในพื้นที่
เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนการต่อสู้ของกลุ่ม BRN คือการขยายงานการเมืองในประชาคมระหว่างประเทศให้เกิดการยอมรับสถานะของกลุ่มตน ให้เป็นกลุ่มที่มีความชอบธรรมในการเรียกร้อง การปกครองตนเอง ตามมติขององค์การสหประชาชาติที่ 1514 ว่าด้วยสิทธิการกำหนดใจตนเอง (RSD) โดยการให้ NGOs และ CSOs ในรูปแบบขบวนการนักศึกษาเหล่านั้น ปรากฏออกมาให้เห็นล่าสุด ในรูปแบบคำประกาศว่า เชื่อมั่นว่าการประชามติ คือ สันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ของ Pelajar Bangsa เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาชาวปาตานีกลุ่มหนึ่งที่เชื่อในการมีอยู่ของชาติปาตานี (Bangsa Patani) ขับเคลื่อนการรับรู้เข้าสู่สถานการณ์ในวงกว้าง รวมทั้งเรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศและประชาคมระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหา จชต. เพื่อไม่ให้ปัญหา จชต. เป็นปัญหาเฉพาะภายในของประเทศไทยอีกต่อไป ด้วยเหตุที่ว่า BRN ไม่สามารถเอาชนะรัฐไทยจนได้เอกราชได้ด้วยตนเองเพียงลำพัง หากแต่ต้องให้องค์การระหว่างประเทศและประชาคมโลกร่วมกดดันรัฐให้ยอมจำนน ผ่านการเดินงาน สู่หลักการกำหนดใจตนเอง (RSD) ของสหประชาชาติ อันเป็นยุทธศาสตร์การเอาชนะจากภายนอกที่กลุ่ม BRN กำหนดไว้อย่างลุ่มลึก จึงจะสามารถเอาชนะรัฐไทยได้ในที่สุด