หลายคนอยากเป็นผู้นำ อยากเป็นคนสำคัญ การยอมรับ หรือความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ หากแต่มีเพียงความปรารถนา หรือความทะยานอยากนั้นไม่เพียงพอ
“ภาวะผู้นำ(leadership) เป็นลักษณะของผู้นำ (leader)ซึ่งการจะเป็นผู้นำที่ดีได้จำเป็นต้องมีความ รู้บางอย่างในทุกอย่าง หรือรู้ทุกอย่างในบางอย่าง 'Know something in everything' หรือ "Know everything in something" ซึ่งหมายถึงการเป็นพหูสูต คือ เป็นผู้รอบรู้ในเรื่องต่างๆ และสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ได้ในทุกด้าน แต่คำว่า ภาวะผู้นำ นั้น คือ การเป็นผู้นำ ซึ่งหมายถึง เป็นกระบวนการ ซึ่งบุคคลหนึ่งสามารถชักนำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่เขาประสงค์' หรือหมายถึง กระบวนการที่บุคคลมีความคิดริเริ่มที่จะช่วยให้กลุ่มได้ก้าวหน้าไปสู่จุดประสงค์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน ช่วยทำให้กลุ่มคงอยู่ได้ และช่วยให้สมาชิกของกลุ่ม"สมปรารถนาในสิ่งที่ต้องการโดยสิ่งที่ต้องการนั้นเป็น ตัวกระตุ้นให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอาจกล่าวได้ว่า ผู้นำ (leader) เน้นที่ความสามารถ (leader competencies) และความสามารถนั้นต้องพัฒนโดยเน้นการพัฒนาที่สำคัญ 2 ประการ คือ การพัฒนาตน (Self-Development) และการพัฒนาบุคคลอื่น หรือบุคลากรในองค์กรของตน (others development) นั่นเอง” (ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง)
ใดๆ นั้น ภาวะผู้นำในทางพระพุทธศาสนา มีผู้ทรงความรู้อเนกอนันต์ได้อธิบายความเอาไว้ “สยามรัฐ” ขออนุญาตยกมาจากหนังสือ “ภาวะผู้นำ & จริยธรรมนักการเมือง” โดยพระธรรมโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สมัยยังเป็นพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้เขียนไว้ (เผยแพร่ในรูปแบบ E-book https://www.pagoda.or.th/case-study/download/6536/577/52.html?method=view) ที่จะอธิบายความต่อจากตอนที่แล้ว ดังนี้
“…เมื่อมีความแตกต่างและกระจัดกระจายอย่างนี้ ก็มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้คนทั้งหลายมาประสานกัน ทำการทำงานต่างๆ ไปด้วยกันได้ และพากันไปด้วยดี ให้ผ่านพ้นภัยอันตรายอุปสรรคข้อติดขัดทั้งหลาย ดำเนินไปจนบรรลุถึงประโยชน์สุข หรือความสำเร็จที่เป็นจุดหมาย
ที่ว่านี้ก็หมายความว่า เราต้องการเครื่องมือหรือสื่อที่จะมาช่วยประสานให้คนทั้งหลายรวมกันหรือร่วมกัน ทั้งรวมกันอยู่และร่วมกันทำ เพื่อจะให้อยู่กันด้วยดี และทำการด้วยกันได้ผลบรรลุจุดหมาย ประสบความสำเร็จ
เมื่อพูดอย่างนี้ ก็มีคำตอบง่ายๆ ว่าเรา “ต้องการผู้นำ”นั่นเองและเมื่อพูดตามสภาพของสังคมมนุษย์อย่างนี้ ก็จะได้ความหมายของ "ผู้นำ" ว่า คือ บุคคลที่จะมาประสานช่วยให้คนทั้งหลายรวมกันโดยที่ว่าจะเป็นการอยู่รวมกันก็ตาม หรือทำการร่วมกันก็ตาม ให้พากันไปด้วยดี สู่จุดหมายที่ดีงามที่ว่าพากันไป ก็ให้พากันไปด้วยดีนั้น หมายความว่า ไปโดยสวัสดี หรือโดยสวัสดิภาพ ผ่านพ้นภัยอันตรายอย่างเรียบร้อยและ
เป็นสุข เป็นต้น แล้วก็บรรลุถึงจุดหมายที่ดีงาม ซึ่งขอเดิมอีกหน่อยว่า "โดยถูกต้องตามธรรม"
ข้อหลังบางทีเราอาจจะมองข้าม เราอาจจะนึกแต่เพียงว่าให้บรรลุจุดหมายที่เราต้องการก็แล้วกัน จุดหมายนั้นถ้าไม่ดีงามและไม่เป็นไปโดยถูกต้องตามธรรม ก็จะไม่ใช่ประโยชน์สุขที่แท้จริงซึ่งมั่นคงยั่งยืน แม้ว่าจุดหมายนั้นตามปกติเราย่อมต้องการสิ่งที่เป็นประโยชน์สุข แต่ประโยชน์สุขที่แท้ก็คือสิ่งที่เป็นธรรม หมายความว่า เป็นความจริง ความแท้ ความถูกต้อง และได้มาโดยธรรม (อ่านต่อ)