ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

 

กลับเมืองหลวง

2.ก้าวสู่วงการโทรทัศน์

แม้ว่าอาจินต์ ปัญจพรรค์ จะมีงานเขียน ทั้งเรื่องสั้นและเรื่องแปล ก็มีเพียงประปราย เป็นครั้งคราว ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ที่สำคัญ ไม่พอยาไส้ อาศัยเบี้ยเลี้ยงที่พี่สาวให้เป็นรายวันดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว

ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ต้องการให้น้องชายมีงานเป็นหลักเป็นแหล่ง จึงพาไปฝากงานที่บริษัทไทยโทรทัศน์ที่สี่แยกคอกวัว ราชดำเนินกลางเมื่อปี 2497 ในเวลานั้นมีแต่สถานีวิทยุ แต่มีโครงการใหญ่คือ จะตั้งสถานีโทรทัศน์ ในอีก 1 ปี

“วันไปฝากงาน ผมก็งัดเสื้อในตู้มา”เขาเล่า “ เป็นเสื้อกั๊ก มีรอยขาดด้านข้าง ก็นั่งหนีบแขน นั่งต่อหน้าคุณจำนง รังสิกุล(ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด) แกก็สัมภาษณ์ ถามว่า ไหนว่าไปอยู่เหมืองแร่ ภาษาอังกฤษดี ลองดูซิ”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ ตอบว่าภาษาอังกฤษยังไม่แข็งนัก แต่พอฟังรู้เรื่อง จำนง รังสิกุลจึงยื่นหนังสือบรรยายข่าวจากสหรัฐอเมริกาให้ 3 เล่ม เป็นการทดสอบภาษาอังกฤษของเขา เมื่อกลับไปบ้าน เขาจนแต้ม แปลไม่ได้ เพราะเป็นภาษาข่าว

ส่วนเขารู้แต่ภาษาช่าง เขาจึงบอกพี่สาวว่า ขอถอนใบสมัคร แล้วมุมานะเขียนเรื่องส่งไปหนังสือต่าง ๆ หมดกระดาษฟุลสแก๊ปวันละ 2 โหล ส่วนใหญ่ได้ลงตะกร้า

ในเวลาต่อมา ชอุ่ม ปัญจพรรค์ บอกน้องชายว่า มีงานเขียนบทละครวิทยุครึ่งชั่วโมงให้คณะถาวรภิรมย์ทุกวันศุกร์ แต่ตนไม่มีเวลา จึงมอบให้เขียนแทน

อาจินต์ ปัญจพรรค์ มุ่งมั่นกับการเขียนบทละครวิทยุด้วยความพิถีพิถันมาก ถือว่าเป็นการฝึกฝนการเขียนของเขาอย่างหนึ่ง ทำให้มีฝีมือแก่กล้าขึ้นในเวลาต่อมา  หัวหน้าคณะละครวิทยุได้อ่านบทละครวิทยุของเขาแล้ว ชอบใจในฝีมือของเขามาก

อานิสงส์จากเรื่องสั้น “สัญญาต่อหน้าเหล้า” ที่ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์เป็นเรื่องแรก จำนง รังสิกุลมาอ่านพบเข้า รู้ในภายหลังว่านามปากกา “จินตเทพ” เป็นของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ จึงเรียกตัวเขาไปทำงานในฝ่ายภาษาไทยที่บริษัทไทยโทรทัศน์เมื่อปี 2497 มีตำแหน่งเป็นผู้เขียนบทโทรทัศน์ประจำสถานี-Station script writer เป็นช่วงที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมเพิ่งก่อตั้งขึ้น ได้เงินเดือน 800 บาท เผยแพร่ภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกในประเทศไทย

“คุณจำนง รังสิกุล รักผม เพราะผมรักภาษาไทย สอนผมทุกอย่างเกี่ยวกับงานในวิชาชีพด้านโทรทัศน์และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยความเอาใจใส่”อาจินต์ ปัญจพรรค์บอกเล่าความรู้สึก

ตอนที่เข้าไปทำงานใหม่ ๆ นั้น อาจินต์ ปัญจพรรค์ยอมรับว่าไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับวงการโทรทัศน์เลยว่าเข้าทำกันยังไง จำนง รังสิกุล ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการช่อง 4 เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้ เคยทำงานในบีบีซี ที่ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ให้ความรู้กับเขา โดยในขั้นแรก ให้เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับวงการโทรทัศน์ที่สะสมไว้มากมายในตู้

อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงมุมานะอ่านตำราภาษาอังกฤษด้วยความพากเพียร ศึกษางานโทรทัศน์ว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาใช้ในภาคปฏิบัติที่ไม่มีสถาบันใด ๆ ในสมัยนั้นสอนกัน

ช่วงที่ทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม อาจินต์ ปัญจพรรค์ยังคงเขียนเรื่องสั้นส่งไปลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์และชาวกรุงอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งตอกย้ำความเป็นนักเขียนของเขาให้โดดเด่นขึ้นมา

อาจินต์ ปัญจพรรค์ทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างมีความสุขในงานที่ตนรัก ไม่มีวันหยุด ถึงขนาดกินนอนที่สถานี ในเวลาต่อมา จำนง รังสิกุลได้มอบหมายให้เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสารไทยโทรทัศน์ รายเดือนของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม แทนคนเดิมที่ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ

อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงระดมนักเขียนใหญ่ เช่น ประหยัด ศ.นาคะนาท, ประมูล อุณหธูป, นพพร บุญยฤทธิ์, รัตนะ ยาวประภาษ, ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ฯลฯ มาเขียนในคอลัมน์ต่างๆ และเพิ่มหน้าให้นักเขียนรุ่นใหม่ นี่คือบทเริ่มต้นครั้งแรกในชีวิตของการเป็นบรรณาธิการ

อาจินต์ ปัญจพรรค์เปิดประกวดคอลัมน์ “คนสวยของฉัน”สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่ต้องการแสดงฝีมือ นักเขียนคนหนึ่งที่ต่อมากลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในนิตยสารฟ้าเมืองไทย และได้รับรางวัลระดับชาติมากมาย นั่นก็คือ นิมิตร ภูมิถาวร ครูนักเขียนที่ล่วงลับไปแล้วด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์

งานในหน้าที่คนเขียนบทโทรทัศน์ประจำสถานีในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีใครสอนเหมือนสมัยนี้ ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองทุกอย่าง  เขาต้องคร่ำเคร่งกับงานในหน้าที่ เพื่อคิดและเขียนออกมาเผยแพร่ออกอากา คืนแรก เวลา 19.00 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 เริ่มเผยแพร่ออกอากาศโดยนักเขียนบทโทรทัศน์หน้าใหม่ที่ชื่ออาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของวงการโทรทัศน์ในประเทศไทย จึงขอบันทึกไว้ณ ที่นี้

 

“นักเขียนต้องมีความรู้รอบตัว รู้จริงกับความรู้สึก ซึ่งหมายถึง การเข้าใจคิด มีความคิดแหลมคม มีความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งลึกซึ้ง หรือวิจิตรพิสดารกว่าคนอื่น ไม่งั้นเขาจะมาอ่านงานของเราให้เสียเวลาทำไม”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)