เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่มีวันสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นวันสำคัญสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ที่เรียกว่ากันในวันนี้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
91 ปีผ่านไป ประเทศไทยอยู่ในบรรยากาศการเมือง หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่บางกลุ่มบางพวกเคลมว่าชัยชนะของพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และพาการเมืองไปสู่ครรลองตามระบอบประชาธิปไตย
ท่ามกลางบรรยากาศการเมือง ที่ยังลุ่มๆดอนๆกับสถานะของว่าที่รัฐบาล โดยเฉพาะว่าที่ผู้นำรัฐบาล ที่ต้องประคองสถานการณ์ไปจนเกิดความชัดเจนในวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้คลื่นใต้น้ำที่กระแทกเข้าใส่ว่าที่รัฐนาวาพิธา ถือว่าเป็นบททดสอบที่ท้าทายต่อภาวะผู้นำ
แล้วภาวะผู้นำในทางพระพุทธศาสนา มีผู้ทรงความรู้อเนกอนันต์ได้อธิบายความเอาไว้ “สยามรัฐ”ขออนุญาตยกมาจากหนังสือ “ภาวะผู้นำ & จริยธรรมนักการเมือง” โดยพระธรรมโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สมัยยังเป็นพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้เขียนไว้ (เผยแพร่ในรูปแบบ E-book https://www.pagoda.or.th/case-study/download/6536/577/52.html?method=view) ดังนี้
“มีคาถาพุทธภาษิตแห่งหนึ่ง แสดงความไว้ว่า เมื่อฝูงโคว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปคด โคหมด ทั้งฝูงนั้นก็ไปคดตามกัน เพราะมีผู้นำที่ไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น บุคคลผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม หมู่ประชาชน นอกนั้นก็จะประพฤติซ้ำเสียหาย แว่นแคว้นทั้งหมด ก็จะยากเข็ญ หากผู้ปกครองเป็นผู้ไร้ธรรม เมื่อฝูงโคว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคหมด ทั้งฝูงนั้นก็ไปตรงตามกัน เพราะมีผู้นำที่ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น บุคคลผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นประพฤติชอบธรรม หมู่ประชาชน นอกนั้นก็จะพลอยดำเนินตาม ทั้งแว่นแดวันก็จะอยู่
เป็นสุข หากผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม พุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นความสำคัญของผู้นำ ต่อความอยู่รอด สวัสดิภาพ และสันติสุขของสังคมและประเทศชาติทั้งหมด (อ่านต่อ)