การฝ่าด่าน 250ส.ว.สำหรับ พรรคก้าวไกลที่จะผลักดัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยังไม่มีใครการันตีได้ว่าจะออกมาในมุมไหน 
 เพราะแม้ ก่อนหน้านี้จะมีส.ว.บางส่วน ประกาศตัว หนุน พร้อมยกมือโหวตให้พิธา ในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยชั่งน้ำหนักจาก มติประชาชน  ถึง 14 ล้านเสียง ที่เลือกพรรคก้าวไกลก็ตาม 


 แต่ดูเหมือนว่า จนถึงวันนี้ใครจะการันตีได้ว่า เสียงส.ว.ที่เปิดหน้า ประกาศเจตนารมณ์ก่อนหน้านี้จะไม่เปลี่ยนใจ เมื่อคดีการถือครองหุ้นไอทีวี ของพิธา ยังกลายเป็นซีรีส์ภาคต่อ แม้พิธา จะออกมาเปิดเผยว่าเขาได้โอนหุ้นอันเป็นมรดกให้กับทายาทออกไปแล้ว เพราะได้กลิ่นว่าจะมีการ ฟื้นคืนชีพไอทีวี มาเพื่อเล่นงานตนเอง 
 ทว่า ล่าสุด แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติตีตก 3คำร้อง ไม่รับคำร้องกรณีพิธา มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้นก็ตาม แต่จากคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ พอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า พิธา เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 151 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.2561 หรือไม่ 


 ประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวี จึงกลายเป็น เงื่อนไข ที่ถูกจับตามองมาโดยตลอดว่า อาจทำให้ส.ว.ทั้งที่ยังไม่ตัดสินใจและที่มีธงในใจอยู่แล้วว่า ไม่โหวต จะใช้เป็น ข้ออธิบาย และนำไปสู่การไม่ยกมือโหวตให้ ล่าสุดยังปรากฎว่า  เกิดประเด็นใหม่ ที่มีความเปราะบาง และเชื่อมโยงกับ ความมั่นคง  ตามมา ! 


 เมื่อการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรม เปิดตัว "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ  หรือ Pelajar Bangsa ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวมทั้งให้มีการทำประชามติ แยกดินแดนปาตานี ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างหนัก ยิ่งเมื่อพบว่ามีตัวแทนของพรรคเป็นธรรมและพรรคประชาชาติ เข้าไปร่วมงานเสวนา ส่วนว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีชื่อแต่ตัวไม่ได้ไปร่วมงาน 

 แน่นอนว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าว เรื่องการเสนอให้ทำประชามติแบ่งแยกดินแดน ย่อมเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ นอกเหนือไปจากเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย เรื่องแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนปาตานี ยังกลายเป็น จุดเริ่มต้น ให้  ฝ่ายความมั่นคง ทั้งในพื้นที่ และรัฐบาลรักษาการต้องออกมา ขยับตรวจสอบ  โดยเฉพาะกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกแถลงการณ์ ชี้ว่าการกระทำให้มีประชามติแบ่งแยกดินแดนนั้นทำไม่ได้ และจะทำการตรวจสอบ เก็บหลักฐานทั้งหมด 
 

ประเด็นเรื่องความมั่นคง กำลังกลายเป็น ชนวนใหม่ ที่ทำให้การตั้งรัฐบาลของ 8พรรคร่วมฯ มีอันต้องสะดุด ขณะเดียวกันนี่อาจกลายเป็น เงื่อนไขใหม่ ที่ทำให้มีน้ำหนักมากพอ ที่ ส.ว. จะยิ่งไม่โหวตให้ชื่อพิธา ได้นั่งนายกฯ !