เสือตัวที่ 6
ห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเมื่อ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา กำลังเป็นห้วงเวลาสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านจากการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในช่วงที่ผ่านมาไปสู่ก้าวย่างใหม่ที่จะยังคงสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของรัฐในความหมายของบูรณภาพแห่งอาณาเขตและความเป็นรัฐเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของรัฐในทุกยุคทุกสมัยจวบจนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 ที่กล่าวไว้ว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้ ความว่าบูรณภาพแห่งอาณาเขต แปลว่า ความครบถ้วนสมบูรณ์ของอาณาเขต ซึ่งรัฐจักต้องรักษาไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาโดยจะบกพร่องมิได้ โดยอาณาเขตหมายความรวมถึงบนท้องฟ้า ใต้น้ำ ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เป็นต้น
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 ยังบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังและเข้มงวด แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นการสร้างความเข้มงวดกวดขันให้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจประชาชนในอันที่จะติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ด้วย โดยสาระสำคัญของกระบวนการพูดคุยสันติสุขหรือการเจรจาเพื่อสันติภาพที่ผ่านมานั้น ยังคงดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญของรัฐอย่างเคร่งครัด แม้ว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ ต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย หรือการยกเลิกกฎหมายพิเศษ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง การยุบเลิก กอ.รมน. และ ยุบ ศอ.บต. รวมทั้งการถอนกำลังทหารตามสถานการณ์ ก็ยังคงต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญของรัฐที่ถูกกำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจน
ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลชุดใหม่ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กับขบวนการ BRN ต้องหยุดชะงักไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ และเมื่อรัฐบาลใหม่จะแต่งตั้งคณะพูดคุยชุดใหม่ แต่กระนั้น ยังเป็นไปตามโครงสร้าง ที่มี สมช. เป็นเลขานุการ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้แนวทางที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งได้ดำเนินการ 3 ปี 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า หน่วยงานความมั่นคงได้ดำเนินงานใน 3 แนวทาง คือ 1.แนวทางความมั่นคง ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างปกติสุข 2.การพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ให้อยู่ร่วมกันได้ภายในพหุวัฒนธรรม โดยมี ศอ.บต. เป็นฝ่ายดำเนินการ 3.การพูดคุยเพื่อสันติสุข ร่วมกันหาทางออก เปิดการพูดคุย เปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธจากความรุนแรงมาสู่แนวทางสันติวิธี เร่งแก้ปัญหาที่รากเหง้าแบบมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยมี สมช. รับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว ยังคงประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและยังเป็นวาระ
ด้าน พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ตลอดกว่า 19 ปี ของสถานการณ์ที่ผ่านมานั้น หน่วยงานความมั่นคงมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 ซึ่งใช้เพื่อการควบคุมสถานการณ์ และใช้ตามความจำเป็นของสถานการณ์อยู่แล้ว แม้ว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สงคราม ไม่ได้เป็นพื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธ หากแต่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผ่านมา ล้วนเกิดจากคนไทยกลุ่มหนึ่ง กระทำผิดกฎหมายของรัฐ ก่ออาชญากรรมที่ละเมิดต่อกฎหมายของประเทศไทย หน่วยงานความมั่นคงจึงจำเป็นต้องจัดกำลังทหาร ตำรวจ รวมทั้งอาสาสมัครทั้งหลาย มาช่วยกันสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องมาปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายของรัฐตามกระบวนการยุติธรรมอย่างอารยะ โดยเฉพาะที่ผ่านมานั้น มีผู้บริสุทธิ์ทั้งประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องเสียชีวิตกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จากการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งที่ละเมิดกฎหมาย สร้างความรุนแรง ดังนั้น กฎหมายพิเศษทั้งหลาย จึงยังคงมีความจำเป็นในการปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์และปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำความปกติสุขมาสู่พี่น้องในพื้นที่ แต่กระนั้น ที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงก็จะใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น และมีการลดลำดับความเข้มข้นของกฎหมายที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว สำหรับการถอนกำลังทหาร ที่ผ่านมานั้น กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ในปี 2559-2560 ได้มีการถอนกำลังทหารที่เป็นทหารจากนอกพื้นที่ไปแล้ว คงไว้เฉพาะกำลังทหารในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีการถอนกำลังไปแล้วกว่า 25,000 นาย และอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนจากทหารไปสู่ตำรวจและฝ่ายปกครองพลเรือนมากขึ้นตามลำดับ
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหายาวนานและเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล พื้นที่ จชต. มีอัตลักษณ์มลายู นับถือศาสนาอิสลาม 80 เปอร์เซ็นต์ ปัญหามาจากคนบางกลุ่มใช้ความแตกต่างกับคนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้น ไปยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก โดยมีเป้าหมายหลักคือการแบ่งแยกดินแดน หวังจะปกครองกันเองอย่างอิสระเฉกเช่นเดียวกับรัฐเอกราช การขับเคลื่อนการต่อสู้ของรัฐจึงกระทำเพื่อสลายความขัดแย้งอันเป็นต้นเหตุจากความเห็นต่าง หลอมรวมความเห็นต่างด้วยการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง โดยหน่วยงานความมั่นคงต้องเร่งสื่อสารกับแนวนโยบายใหม่โดยรัฐบาลใหม่ให้เข้าใจรับรู้ว่า ที่ผ่านมารัฐได้ดำเนินการอะไรมาแล้วอย่างได้ผล และจะต้องดำเนินการต่อไปให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจนี้ ยังต้องมุ่งสร้างความเป็นปึกแผ่น คงความมั่นคงของรัฐได้โดยยังคงรักษาบูรณภาพแห่งอาณาเขตของรัฐ อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด