เส้นทางรัฐบาลพิธา ไม่ง่าย แม้จะสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้  312 เสียงจาก 8 พรรคการเมือง แต่ยงคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. ประกาศรับรองส.ส.จากการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566  ที่มีกระแสข่าวในโลกออนไลน์ กกต.เตรียมแจกใบแดงตัดเพิกถอนสิทธิ ส.ส. 20 กว่าราย ซึ่งในจำนวนนั้น หากเป็นส.ส.ในซีกที่จับมือกันจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ก็จะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ปัจจัยจากกรณีการถูกร้องให้กกต.ตรวจสอบกรณีการถือครองหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเตดนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ที่แม้กระบวนการในการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดกรณีดังกล่าว อาจต้องใช้เวลาอีกนาน แต่การเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสในเวลานี้ อาจส่งสัญญาณไปถึงการตัดสินใจ ของส.ส.และส.ว.ที่จะลงมติสนับสนุนนายพิธา

ปัจจัยเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พักไว้ชั่วคราว โดยให้เป็นเรื่องของ 2 พรรคการเมือง คือพรรคที่ได้อันดับที่ 1 คือพรรคก้าวไกล กับพรรคอันดับที่ 2 พรรคเพื่อไทย ไปหารือกัน ซึ่งจะมีตัวแปรที่สำคัญ คือ ตัวเลขของส.ส.ที่กกต.ประกาศรับรอง ซึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงสถานะ จากที่มีเสียงข้างมากอันดับ 1 และอันดับ 2 อาจเปลี่ยนแปลง หรือในทางกลับกัน อาจทำให้คะแนนเสียงของพรรคอันดับ 1 เพิ่มขึ้นไปอีกก็เป็นได้

ทั้งนี้เมื่อไปดูในต่างประเทศ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chaiyan Chaiyaporn" ระบุว่า...

ในปี พ ศ 2560 เนเธอร์แลนด์ใช้เวลาถึง 208 วัน กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมสี่พรรคได้ !

ในปี พ ศ 2562 เบลเยี่ยมใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลผสมถึง 592 วัน !    

สำหรับประเทศไทย ในปี 2566 จะใช้เวลานานในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรคนานเท่าไหร่ยังไม่มีข้อยุติ และจะสำเร็จหรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ

แต่ยิ่งทอดเวลาออกไปนานเท่าไหร่ ประชาชนย่อมเกิดความเบื่อหน่าย ที่สำคัญคือผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ที่กำลังฟื้นตัว เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณและ การลงทุนจากภาครัฐ ล่าช้าออกไปด้วย ฉะนั้นแม้ว่าที่รัฐบาลจะพยายามที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากการตั้งคณะกรรมการรองรับการเปลี่ยนผ่าน แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ปฏิเสธสุญญากาศที่เกิดขึ้นไมได้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องเร่งทำให้เกิดความชัดเจน เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน