รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย เคยกล่าวว่าตนเองเป็น “ผู้นำแบบผู้รับใช้” หรือ “Servant Leader” มิได้เก่งและรอบรู้ทุกเรื่อง ถ้าเรื่องนั้น ๆ มีคนที่เก่งหรือรู้มากกว่าก็พร้อมมอบบทบาทหรือหน้าที่ให้แก่ผู้นั้นรับไปดำเนินการ แล้วตนเองจะทำหน้าที่คอยดูแลหรือมองภาพรวม ซึ่งช่วงเวลาโลกต่อจากนี้การดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของทุกประเทศหรือองค์กรจะมีวงรอบระยะเวลาที่สั้นและจำกัดกว่าในอดีต เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากทำให้ต้องใช้พลังและศักยภาพของคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำหน้าที่บริหารจัดการ ขณะที่ผู้บริหารรุ่นเก่าจะคอยสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะ หากคนรุ่นเก่ายังคงครองเก้าอี้บริหารเอาไว้นาน ๆ อาจทำให้ “คน” ซึ่งเคยเป็นสินทรัพย์ (Human Asset) กลายสภาพเป็นหนี้ (Liability) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของประเทศหรือองค์กร
แนวคิดเกี่ยวกับ “Servant Leader” คิดค้นโดยนายโรเบิร์ต เค. กรีนลีฟ (Robert K. Greenleaf) อดีตผู้บริหาร AT&T และได้เขียนหนังสือชื่อ “Servant Leadership: A Journey into the Nature of Legitimate Power and Greatness” โดยมีหลักการสำคัญว่า “ผู้นำเริ่มต้นจากความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่นก่อน จากนั้นจึงเดินก้าวเข้าสู่บันไดของการเป็นผู้นำ”
ลักษณะเด่นของผู้นำแบบผู้รับใช้คือ อยากพัฒนา อยากช่วยให้ทีมงานประสบความสำเร็จทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ความสามารถ หรือจิตใจ เน้นให้ทีมงานเป็นศูนย์กลาง มอบโอกาสให้ผู้อื่นใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่วางตนเป็นศูนย์กลางอำนาจสูงสุด มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นผู้รับฟังที่ดี ส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรจากรุ่นสู่รุ่น
ปัจจุบันแนวคิดผู้นำแบบผู้รับใช้ได้นำมาใช้แล้วในองค์กรชั้นนำ เช่น ‘กูเกิล’ และ ‘สตาร์บัคส์’ โดยมองว่าผู้นำแบบผู้รับใช้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงแบบทวีคูณข้อมูลข่าวสารเก่าถูกแทนที่หรือกลบทับด้วยข้อมูลข่าวสารใหม่อย่างรวดเร็ว การรับมือกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงให้ทันสถานการณ์จำเป็นต้องมีผู้นำแบบผู้รับใช้
ถ้าผู้นำแบบผู้รับใช้ต้องการยกระดับตนเองขึ้นเป็นผู้นำระดับตำนาน (Legendary Leader) ให้ผู้คนระลึกถึงแบบไร้ขอบเขตและมิติเชิงพื้นที่และเวลาแล้ว ก็ต้องเป็นคนที่มีส่วนผสมหลักทั้งความกล้า (Daring) ความกล้าหาญ (Courageous) และแรงบันดาลใจ (Inspiring) รวมถึงความมีชีวิตชีวา (Vitality) และความมุ่งมั่น (Determination)
ตามประวัติศาสตร์ผู้นำที่ก้าวสู่ทำเนียบระดับตำนานพบว่า ทุกคนเป็นคนที่มองภาพใหญ่ออก (The ability to look at the bigger picture) พร้อมยอมรับความล้มเหลว (The willingness to accept failure) มุ่งมั่นทำสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่นศรัทธา (The ability to take a leap of faith) มีทักษะการสื่อสารที่ดีเยี่ยม (Excellent communication skills) และมีทั้งความกล้าเสี่ยงและ ความกล้าหาญ (Risk-taking and courage) (อ่านเพิ่มเติม https://bestdiplomats.org/famous-world-leaders-in-history/)
การที่ผู้บริหารจะเป็นผู้นำในตำนานยังต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญในเชิงการบริหารจัดการอีก 10 ข้อ คือ 1) เน้นที่ ‘คน’ มากกว่าเงิน (Seek significance (people) rather than success (money)) 2) มองที่ ‘วัตถุประสงค์ระยะยาว’ มากกว่าผลลัพธ์ระยะสั้น (Serve a purpose rather than achieve results) 3) เน้นเป็น ‘ผู้ให้’ มากกว่าผู้รับ (Focus on “what can I give?” rather than “what can I get?”) 4) ทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา (Do the right thing regardless of theoutcome) 5) คาดการณ์ถึงสิ่งที่จะผิดพลาดไว้ล่วงหน้า (Expect in advance for things to go wrong) 6) กำหนดนิยามใหม่ของ ‘ความล้มเหลว’ ว่าคือการเรียนรู้ (Redefine failure for learning) 7) มุ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องทำมากกว่าสิ่งที่ก่อปัญหา (Resist “urgency addiction”) 8) จดจ่อกับวิสัยทัศน์ (Stay focused on vision) 9) ไม่ยอมเสียเวลาหรือกังวลกับคะแนนนิยม (Don’t spend time keeping score or worrying about their popularity) และ 10) มีอารมณ์ขัน (Keep a sense of humor) (อ่านเพิ่มเติม https://career-intelligence.com/ten-traits-of-legendary-leaders/)
หากผู้นำแบบผู้รับใช้จะเอาชนะและรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต้องมีคุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่ การคิดแบบมีวิสัยทัศน์ (Visionary thinking) ความสามารถในการปรับตัวและความคล่องตัว (Adaptability and agility) นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Innovation and creativity) ความฉลาดทางอารมณ์และการเอาใจใส่ (Emotional intelligence and empathy) การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและความอยากรู้อยากเห็น (Continuous learning and curiosity) การทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นทีม (Collaboration and teamwork) ความเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบ (Ethical and responsible leadership) และความยืดหยุ่นและความอุตสาหะ (Resilience and perseverance)
กว่าผู้นำแต่ละคนจะก้าวขึ้นแท่นผู้นำระดับตำนานครองใจผู้คนตลอดกาล ก็คงต้องผ่านเรื่องราวการต่อสู้และความล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความสำเร็จมิอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามวันข้ามคืน ขอเป็นหนึ่งแรงสนับสนุนผู้บริหารทุกท่านที่จะนำตนเองสู่ผู้นำระดับตำนานต่อไปครับ