ความอึมครึมทางการเมือง ยังปกคลุม และสร้างความหวั่นไหวต่อ 8พรรค  ที่จับมือกันตั้ง รัฐบาลเสียงข้างมาก อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ พรรคก้าวไกล ที่ได้รับโอกาสทำหน้าที่ แกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่กลับยังต้องลุ้นว่า จะสามารถ ยืนระยะ ประคองตัวเองไปได้จนตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ?
 
แน่นอนว่า ตามกรอบเวลาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศรับรองส.ส. ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของ ส.ส. 500 คน หรือ 475 คน เพื่อให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา เดินหน้าสเต็ปที่ 1 คือการเลือกตัว ประธานสภาผู้แทนราษฎร
 
 และไปสู่สเต็ปที่1 คือการประชุมเพื่อโหวตเลือก นายกฯคนที่ 30 ซึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะต้องได้เสียงสนับสนุน เกินกึ่งหนึ่ง ของสมาชิกรัฐสภา 750 คน นั่นคือ 376 เสียง  
 
แต่ดูเหมือนว่าตลอดเส้นทางไปสู่ ทำเนียบรัฐบาล ของ พิธา และพรรคก้าวไกล แทบไม่มีอะไรราบรื่น เพราะในเมื่อ ว่าที่นายกฯ ยังต้องเจอ ด่านหิน ด้วยกัน ถึง 2ด่าน 
 
ด่านแรก คือพรรคก้าวไกล จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เสียง 64ส.ว. ให้โหวตสนับสนุนชื่อ พิธา ในรัฐสภาให้ได้เป็น นายกฯ คนที่ 30 ในเมื่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  นอกจากพรรคก้าวไกล จะหาเสียงจากส.ว.ไม่ครบแล้ว  
 
ยังตอบไม่ได้ว่า แกนนำ จากอีก 7พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน จะมีใครบ้างที่ช่วย ต่อสาย ประสานกับส.ว. ให้อีกหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้จะมีความเคลื่อนไหวจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ช่วย ดีล กับส.ว.บางส่วนให้ก็ตาม 
 
ด่านที่ 2 คือคำร้องเรื่องคุณสมบัติของพิธา ที่มี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นเรื่องต่อกกต. เอาไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องการถือหุ้นไอทีวี นั้นจะเข้าข่ายขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือไม่และหากเกิดปัญหาจริง จะกระทบไปถึง ผู้สมัครส.ส.ของพรรกก้าวไกล ตามมาเป็นช็อตต่อไปหรือไม่ 
 
ทั้งนี้ สุดท้ายปลายทางของเรื่องนี้คือการที่ชี้ขาดโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่กกต.มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 

 ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน ก็จะพบว่า ทั้งพรรคก้าวไกลและพิธา ยังมี ด่าน ที่ต้องฝ่าฟัน  ทั้งด่านส.ว.และศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงเรียกร้องไปยัง กกต.ให้เร่งรับรองการเลือกตั้งส.ส. เพื่อไปสู่ช็อตต่อมาคือการพิจารณาปมพิธาถือหุ้นไอทีวี โดยเร็วก่อนที่จะเดินไปถึงวันโหวตนายกฯในรัฐสภา ที่คาดว่าจะมีขึ้นในราวเดือนส.ค.นี้ !