“ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้น คือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ชื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี”พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือในประเทศไทย ด้วยทรงเล็งเห็นว่าประเทศชาติจะมีความมั่นคงได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีคุณภาพ จนเป็นที่มาของการนำกิจการลูกเสือ เพื่อฝึกอบรมเด็กและเยาวชนของชาติ ให้เป็นพลเมืองดี เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ภายหลังการเลือกตั้งมีความเคลื่อนไหวของว่าที่ส.ส.พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ให้ยกเลิกการแต่งชุดลูกเสือเพื่อลดภาระของผู้ปกครอง
ส่งผลให้มีการชี้แจงออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมและมัธยม (สพป. และ สพม. ) ทั่วประเทศให้สื่อสารซักซ้อมความเข้าใจการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด โดยให้โรงเรียนดำเนินการอย่างยืดหยุ่น ไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง
โดยน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหตุผลว่า การเรียนไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบครบชุด แต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าเด็กได้เรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด เช่น มีผ้าผูกคอผืนเดียวได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการเรียนวิชานี้อยู่ที่กิจกรรม จิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม การเสียสละ มากกว่าการให้ความสำคัญกับชุดยูนิฟอร์ม และขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเรื่องของชุดนักเรียน ชุดลูกเสือและชุดเนตรนารี ปกติทางรัฐบาลจัดให้ปีละ 1 ชุด ซึ่ง 1 ชุด อาจใช้ได้ถึง 2 ปี ส่วนของ กทม.ให้เพิ่มชุดพละ ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี สลับกันปีละ 1 ครั้ง ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่มีปัญหา และกระทรวงศึกษาธิการประกาศออกมาแล้วว่า ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี สามารถใช้แค่ผ้าพันคอได้ ซึ่ง กทม. ได้ออกประกาศสำทับไปในแนวทางเดียวกัน 2 ฉบับ ตั้งแต่เดือน มกราคม และ เดือนตุลาคม ดังนั้น กระบวนการเตรียมชุดลูกเสือและเนตรนารี อาจเกิดความล่าช้า หรืออาจใส่ไม่ได้เพราะเด็กอาจตัวใหญ่ขึ้นระหว่างเรียน จึงอนุโลมให้ใส่ชุดนักเรียนปกติมาพร้อมกับผ้าพันคอได้ เพราะ กทม.มีประกาศออกไปแล้ว
แม้นัยหนึ่งเรื่องภาระชุดลูกเสือ จะถูกอธิบายได้ในระดับหนึ่ง ด้วยแม้เครื่องแบบนั้น ไม่สำคัญเท่ากับอุดมการณ์ หากแต่เป็นการสร้างเอกลักษณ์ และการจดจำ ที่แน่นอนว่า ที่นานวันอาจถูกทำให้เลือนหายหรือลบล้างที่อาจส่งผลกระทบต่ออุดมการณ์
เราเห็นว่ามีหลายหลักสูตรอบรมในประเทศไทยให้กับบุคคลากรต่างๆ มีการอบรมลูกเสือบรรจุอยู่ในหลักสูตร บุคลากรต่างๆเหล่านี้ ควรระดมสมองคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องชุดลูกเสืออย่างยั่งยืนวัฒนาภาวร ในทางที่จะไม่ถูกลบเลือนไปในอนาคต
ให้สอดคล้องกับคติพจน์ของลูกเสือสามัญที่ว่า “จงเตรียมพร้อม” คือ พร้อมที่จะทำความดี พร้อมเพื่อสร้าง พร้อมเพื่อส่วนรวม และคติพจน์ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ที่ว่า “มองไกล” คือ มองให้เห็นเหตุผล มองให้เห็นคนอื่น มองให้เห็นส่วนรวม มิใช่มองแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง