เสือตัวที่ 6
ขบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้รุกคืบอย่างมีนัยต่อการต่อสู้กับรัฐไทยอย่างน่าสนใจ กระบวนการรุกคืบการต่อสู้ได้รุกเข้าสู่ศูนย์กลางระดับบนสุดของอำนาจรัฐผ่านการนำเสนอวาทกรรมอันลุ่มลึกและหลากหลาย อาทิ การปฏิรูปประเทศในทุกภาคส่วน การคืนอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนชาวไทย การส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองอย่างสุดกำลังแบบโดนใจคนวัยหนุ่มสาวอย่างไม่เคยมีมาก่อน ล้วนส่งผลให้เกิดความนิยมทางการเมืองครั้งล่าสุด หากแต่ในเวลาเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ห่วงกังวลกับผลกระทบกับความมั่นคงของชาติในมิติต่างๆ ในภาพรวม และหนึ่งในนั้นก็คือแนวคิดเชิงนโยบายของพรรคการเมืองทั้งหลายในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยวาทกรรมสันติภาพที่ต้องการ
แนวคิดเชิงนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีแนวคิดเชิงนโยบายมากมายที่หมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงของชาติในความหมายของการเป็นรัฐเดียวอันแบ่งแยกมิได้ อาทิ ผู้แทนพรรคการเมืองหนึ่งกล่าวว่า ควรมองสันติภาพนั้นมาด้วยความสงบและความชอบธรรม และเจ้าภาพในแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นควรเป็นข้าราชการพลเรือน ไม่ใช่ทหาร และให้สภามีส่วนร่วมทุกกระบวนการ ปฏิรูปหน่วยงานในด้านความมั่นคงด้วยการยุบเลิกทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประกาศเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้ กระจายอำนาจสู่พื้นที่ท้องถิ่น ถึงระดับจังหวัด โดยการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตัวเอง 3 จชต. นั่นคือความสงบสันติภาพร่วมกับความชอบธรรม สอดคล้องกับตัวแทนพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งให้ทรรศนะว่า ควรให้มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตัวเอง 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งต้องให้เขาแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง ต้องกระจายอำนาจท้องถิ่น ส่งเสริมคนปกครองตนเอง
เหล่านั้นสะท้อนแนวคิดมุมมองที่สามารถตีความให้ความหมายที่ซ่อนไว้หลายอย่าง ซึ่งหากฟังอย่างผิวเผินก็จะเห็นว่าเป็นตรรกะที่ดีและน่าเป็นไปได้ แต่ถ้ามองอย่างลุ่มลึกจะเห็นอีกแง่มุมหนึ่งว่า หลักการและแนวคิดทั้งหลายไม่อาจใช้ได้อย่างเป็นผลและบรรลุเป้าประสงค์ของหลักการนั้นได้ในทุกพื้นที่ โดยหลักการการกระจายอำนาจอย่างสุดขั้ว การให้สิทธิ เสรีภาพอย่างเต็มกำลังในพื้นที่พิเศษที่มีที่มาในอดีตของการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานของรัฐเหล่านั้นอาจหมิ่นเหม่ ล่อแหลมต่อการรักษาอธิปไตยของชาติอันเป็นหักการความมั่นคงของชาติสูงสุดที่ไม่อาจมีหลักการใดๆ มากล่าวอ้างหรือคัดง้างได้ กระจายอำนาจในลักษณะให้เลือกผู้ปกครองกันเองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับจังหวัด รวมทั้งการถอนกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐออกไปจากพื้นที่ และการยุบเลิกหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาอธิปไตยและการดำรงรักษาอำนาจรัฐเป็นส่วนรวมนั้น อาจเป็นแนวคิดเชิงนโยบายที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระในการปกครองกันเองของขบวนการแห่งนี้ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชแห่งดินแดนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ล่าสุดแนวโน้มของแนวคิดเชิงนโยบายในพื้นที่ 3 จชต. ภายใต้วาทกรรมผลักดันสันติภาพก้าวหน้า สันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี กำลังแผ่ขยายให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นอันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีนัย ด้วยแนวคิดที่ต้องการผลักดันนโยบายสันติภาพกินได้ ยกระดับกระบวนการสันติภาพให้ขยายไปในวงกว้างสู่ระดับสากล (Internationalize) ที่ไม่ใช่เฉพาะสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN และมาเลเซีย โดยมองว่าต้องให้อินโดนีเซีย และสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมแก้ปัญหาในการเจรจาสันติภาพ ยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้งหมดและสนับสนุนให้ใช้กฎหมายอิสลามเข้าใช้ในพื้นที่แทน รวมทั้งยุบเลิก กอ.รมน. และยุบ ศอ.บต. และเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพคนใหม่เป็นพลเรือนโดยเป็นคนของรัฐบาลที่มีแนวคิดเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับรัฐบาล
แนวคิดเชิงนโยบายที่พยายามอย่างแรงกล้าในการผลักดันคำว่าปาตานีเพื่อประสงค์จะสะท้อนถึงความแตกต่างเชิงชาติพันธุ์จากคนไทยในพื้นที่อื่นด้วยวาทกรรมว่าเป็นอัตลักษณ์และวัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในพื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอของสงขลา โดยเน้นย้ำถึงหนึ่งในปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ซ่อนเงื่อนในการนำมาใช้ในการพูดคุยเพื่อให้เกิดการแสดงออกทางสิทธิและเสรีภาพ และเป็นประเด็นสำคัญที่จะถูกนำไปคุยในโต๊ะพูดคุยบนพื้นฐานของความต้องการของคนในพื้นที่แห่งนี้อย่างแท้จริง ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง ซึ่งจะมีการยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการเสนอแนวคิดให้ออกกฎหมายในการเจรจาสันติภาพมารองรับ ยกระดับการพูดคุยสันติภาพของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้มีสถานะเท่าเทียมกับรัฐไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของฝ่ายความมั่นคงขนานใหญ่ และกระจายอำนาจไปให้ประชาชนในพื้นที่อย่างสุดขั้ว
เหล่านั้นจึงเป็นวาระแห่งชาติของฝ่ายความมั่นคงของรัฐด้วยเป็นแนวคิดเชิงนโยบายที่ท้าทายความมั่นคงของชาติที่มีความสำคัญอย่างมากในห้วงเวลานี้ที่จะปล่อยผ่านไปโดยการศึกษาเตรียมรับมืออย่างเป็นปกติธรรมดาไม่ได้ ด้วยเพราะแนวคิดเหล่านั้นได้ส่งผ่านออกมาให้ได้รับรู้อย่างแยบยลผ่าน วาทกรรมการแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยการสร้างสันติภาพที่เป็นธรรม หากแต่ให้ตระหนักไว้ว่า สันติภาพดังกล่าว ต้องเป็นสันติภาพที่มีความมั่นคงของชาติด้วยความหมายของการเป็นรัฐเดียวจะแบ่งแยกมิได้ เป็นเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการ