สถาพร ศรีสัจจัง

จาก พ.ศ.2523-2531 เป็น 3 สมัยในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ไม่แน่ใจนักว่า การที่ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งนายกฯสมัยที่ 4 หลังการยุบสภาฯของท่านในช่วงท้ายสมัยนั้น (ที่เกิดจากการแตกแยกกันเองในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนทางการเมืองที่สำคัญของพลเอกเปรมฯ)เป็นเพราะมีบรรดานักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยสร้างกระแสสูง คัดค้านการกลับมานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 4 หรือเพราะเหตุใดกันแน่!

เพราะหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น พลตรีชาติชาย  ชุณหะวัณ(ยศขณะนั้น) หัวหน้าพรรคชาติไทยได้นำหัวหน้าพรรคที่รวมเสียงกันจัดตั้งรัฐบาลไ ด้เข้าพบท่านที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เชิญให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ท่านปฏิเสธในการรับตำแหน่งดังกล่าว จนสร้างวลี “ป๋าพอแล้ว" เป็นที่ลือลั่นไปทั่วยุทธจักรการเมืองในเวลาต่อมา

หลังเหตุการณ์ “ป๋าพอแล้ว” พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยคนที่ 17 สืบต่อต่อจากพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ในช่วงปีพ.ศ. 2531 สืบมา

กรณีพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณนี้ นับเป็นอุทาหรณ์รูปธรรมที่สำคัญยิ่งกรณีหนึ่ง อันชี้ให้เห็นถึงความเป็น “อนิจลักษณ์”ของวงการการเมืองไทย!

ใครที่สนใจเรื่องประวัติสาสตร์ระยะใกล้ของสังคมไทยย่อมรู้ดีว่า พลเอกชาติชายฯนั้นมีความเกี่ยวข้องผูกโยงกับวงการการเมืองไทยมาตั้งแต่เด็ก เขาเป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนลูก 6 คน ของจอมพลผิน  ชุณหะวัณ

ฟังว่า จอมพลผิน  ชุณหวัณนั้นเป็นเพื่อนนายทหารรุ่นเดียวและสนิทกับจอมพล ป.พิบูลสงครามมาก มีพื้นเพเป็นชาวอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม (อำเภอนี้มีคนดังเยอะ เช่น ศรคีรี  ศรีประจวบ เจ้าของตำนานนักร้องลูกทุ่งเสียงดีผู้อายุสั้น เป็นต้น) 

และน่าจะเป็น “ทหาร” คนเดียวของเมืองไทย ที่ไต่เต้าจากตำแหน่งพลทหารฯจนได้รับยศสูงสุดจนถึงชั้น “จอมพล” (หารายละเอียดเรื่องประวัติชีวิตกันเอาเอง) ที่สำคัญก็คือ ท่านผู้นี้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือ การรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ.2490 และ การรัฐประหารในปีพ.ศ.2494 (หารายละเอียดกันเอาเอง)

ลองดูประวัติ(เฉพาะเรื่องคู่สมรส)ของพี่น้องทั้ง 6 คนของพลเอกชาติชายฯกันสักหน่อย เพราะอาจจะสามารถ “มโน”เห็นว่า ท่านเกี่ยวข้องกับวงการการเมืองไทยแบบ “ไม่ธรรมดา” อย่างไร?

พลเอกชาติชายฯมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 5 คน คือ คุณหญิงอุดมลักษณ์  ศรียานนท์ สมรสกับพลตำรวจเอกเผ่า  ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจลือนามยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม,พี่สาวคนที่ 2 คือท่านผู้หญิงเจริญ อดิเรกสาร สมรสกับพลตำรวจเอกประมาณ  อดิเรกสาร(มารดาของคุณปองพล อดิเรกสาร),พี่สาวคนที่ 3 คือคุณพร้อม  ทัพพะรังสี สมรสกับคุณอรุณ  ทัพพะรังสี(มารดาของคุณกร  ทัพพะรังสี,มีน้องสาว 1 คน คือคุณพรสม  เชี่ยวสกุล สมรสกับคุณเฉลิม  เชี่ยวสกุล(นายสนามมวยราชดำเนินคนที่ 3 ผู้ก่อตั้ง “บริษัทเวทีมวยราดำเนิน จำกัด” ขึ้น โดยการเช่าที่จากสำนักทรัพย์สินฯ) 

 และยังมีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีก 1 คน คือคุณปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ สมรสกับคุณณัฏฐินี  (นามสกุลเดิม “สาลีรัฐวิภาค” !)

พอจะนึก “นามสกุล” ที่เกี่ยวข้องกับวงการ “สังคมการเมืองไทย” ออกใช่ไหม? นามสกุล “ศรียานนท์”/นามสกุล “อดิเรกสาร”/นามสกุล “ทัพพะรังสี”/นามสกุล “สาลีรัฐวิภาค” หรือแม้แต่สายสกุล “เชี่ยวสกุล” ผู้เป็นเจ้าของเวทีมวยราชดำเนินก็เถอะ! จะขาดที่ไม่พูดถึงก็คือ “ศิริโยธิน” อีกสกุลหนึ่งเท่านั้น…

นี่แหละคือสายสกุลของนักการเมืองไทยที่เรียกกันว่า “กลุ่มซอยราชครู” ตัวจริงละ!

ที่กล่าวว่าพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ คือตัวแบบที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น “อนิจลักษณ์” ของวงการการเมืองไทยก็เพราะ  อย่างได้กล่าวแล้ว คือตัวท่านและบิดาคือจอมพลผินฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารครั้งสำคัญในเมืองไทยอย่างน้อยๆก็ 2 ครั้ง คือเมื่อพ.ศ.2490 (ฟังว่าเป็นครั้งที่ทำให้สายอำนาจทางการเมืองของกลุ่มที่มาจาก “คณะราษฎร” สูญสลายลง)ครั้งหนึ่ง และในปีพ.ศ.2494 อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 และยึดอำนาจซ้ำ(ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจร นายกฯหุ่นของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาความวุ่นวายของบรรดาส.ส.ในสภาฯ) จอมพลผินฯ ผู้เป็นบิดาและพลตำรวจเอกเผ่า  ศรียานนท์ ผู้เป็นพี่เขยหมดอำนาจลงพลตำรวจเอกเผ่าฯถูกจับและถูกบีบขับให้ลี้ภัยไปอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)

พลเอกชาติชายฯซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายพลจัตวา คุมกองกำลังทหารยานเกราะ(ซึ่งถือว่าเป็นฐานกำลังของ “กลุ่มราชครู” ที่หนุนอำนาจเก่า) จึงหมดอำนาจลงด้วย แต่เนื่องจาก(ฟังว่า)โดยส่วนตัวสนิทสนมกับจอมพลสฤษดิ์ ฯหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหาร จึงเพียงให้หลุดจ่ากวงจรกองทัพบก โดยถูกส่งตัวไห้ไปทำหน้าที่เกี่ยวกับการทูตในต่างประเทศ และต้องติดอยู่ในวงการต่างประเทศดังกล่าวรวมเวลาถึง 15 ปี!

นี่เป็นการชี้ชัดถึงความเป็น “อนิจลักษณะทางการเมือง” ครั้งแรกของพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย!

“อนิจลักษณ์” ทางการเมืองครั้งที่ 2 เกิดขึ้นขณะที่พลเอกชาติชายฯ นายกรัฐมนตรีผู้มากฉายา ไม่ว่าจะ “นายกฯเพลย์บอย” “น้าชาติมาดนักซิ่ง” “น้าชาติ โน พร็อบเบล็ม” "น้าชาติจอมเสียบ" "นายกฯปลาไหลใส่สเกต" หรือ "หัวหน้ารัฐบาลยุค บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต" ฯ ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยตรง(จากที่เคยร่วมยึดอำนาจคนอื่น)โดยคณะ"คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" หรือ "รสช." ที่นำโดย พลเอกสุนทร  คงสมพงษ์,พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล,พลเอกอิสระพงษ์  หนุนภักดี และพลเอกสุจินดา  คราประยูร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 (อยากรู้รายละเอียดการรัฐประหาร “น้าชาติ” เพิ่มเติมก็ควรสืบค้นหาอ่านเอาเองบ้าง!)

ใช่แล้วพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้เป็นที่มาที่ไปของเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” อันนองเลือด และผู้เป็นเจ้าของวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” คนนั้นนั่นแหละ!!!!