ในคอลัมน์ “สยามรัฐหน้า 5” ฉบับวันที่ 9 มีนาคม 2515 พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ดังนี้ “พระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคมนี้ ในเรื่องการสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นในบ้านเมืองของเรา ด้วยการวางรากฐานในด้านอาชีพของประชาชนในทางเศรษฐกิจและการศึกษานั้น น่าจะได้เป้นพระราชดำรัสที่นักศึกษาและคนทั้งปวงรับใส่เกล้าฯ ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติในการบำเพ็ญกรณีเพื่อชาติบ้านเมืองต่อไป เพราะสาระแห่งพระราชดำรัสนั้นเป็นความจริงซึ่งเราได้ละเลยหรือมองข้ามกันมาเสียเป็นเวลาช้านานแล้ว… การสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเราที่แล้วมานั้น ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนกับการสร้างเครื่องบนที่มีน้ำหนักมากลงบนตัวเรือนโดยไม่คำนึงว่าเสาอันบอบบางที่อยู่เบื้องล่างนั้นจะรับน้ำหนักนั้นได้หรือไม่ เมื่อเรามัวแต่ทำกันอย่างนี้แล้ว หลังคาก็ต้องพังทุกครั้งไป เพราะเสาต่าง ๆ ไม่สามารถจะทานน้ำหนักของเครื่องบนนั้นได้…. เรามองข้ามกันไปเสียว่า ประชาชนที่มีอาชีพอยู่ในระดับดีและมั่นคงเท่านั้น ที่จะมีเวลาและปัญญามาใช้ความคิดในทางการเมืองอันถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง เรามักจะลืมกันเสียว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองของคนที่เจริญแล้วในทางอาชีพและในทางเศรษฐกิจ มีผลประโยชน์ที่ต้องรักษา คนที่ยังมีอาชีพไม่มั่นคง ยังขาดความปลอดภัยในทรัพย์สินที่หาได้ และยังไม่มีประโยชน์เป็นกอบกำที่ต้องรักษานั้น จะเลือกผู้แทนของตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมอย่างไรได้ ? เพราะวัตถุประสงค์ขั้นมูลฐานในการเลือกผู้แทนนั้น ก็เพื่อให้ผู้แทนเข้ามารักษาประโยชน์ของตน หรือของกลุ่มคนที่มีอาชีพอย่างเดียวกับตน เมื่อการเลือกผู้แทนได้กระทำกันโดยขาดวัตถุประสงค์ขั้นมูลฐานดังนี้แล้ว ผู้แทนก็ไม่มีประโยชน์ของชนกลุ่มใดที่จะต้องรักษา ผู้แทนก็เลยเข้ามารักษาและแสวงหาประโยชน์ตน หนักเข้าก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งกันอีก… นอกจากนั้นระบอบประชาธิปไตยยังเป็นระบอบการปกครองของคนที่สามารถวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเองได้ เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมืองด้วยตัวของตัวเอง คนที่จะวินิจฉัยปัญหาด้วยตัวของตัวเองได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีการศึกษาอยู่ในระดับดีพอสมควร ในประเทศไทยซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยึดเอาการกสิกรรมเป็นอาชีพ การที่จะอำนวยให้ประชาชนได้คุ้นเคยต่อหลักการและวิธีการของระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็เห็นมีอยู่แต่การสหกรณ์ตรงตามพระราชดำรัส พระราชดำรัสซึ่งได้พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๔ มีนาคมนี้ จึงเป็นพระราชดำรัสที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของผู้ที่ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมโดยแท้ ประกอบด้วยพระศีลคุณ คือศีลของพระมหากษัตริย์ พระทานคุณ คือการให้ของผู้ที่มีแต่คิดจะให้ พระปริจาคคุณ คือการเสียสละของผู้ที่ไม่มีอย่างอื่นนอกจากความเสียสละ พระอาชวคุณ คือความตรงไปตรงมาของผู้ที่ซื่อตรงต่อประชาชนมาโดยตลอด และพระมทฺทวคุณ คือความอ่อนหวานลึกซึ้ง ควรที่คนทั้งปวงจะดื่มด่ำเอาไว้ในใจโดยตลอดไป”