ในระหว่างทางสู่ทำเนียบรัฐบาล แม้จะมีเสียงสนับสนุนจากประชาชน เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ขณะเดียวกันท่าทีของภาคเอกชน ก็เป็นประเด็นที่ว่าที่รัฐบาลใหม่ต้องสดับตรับฟัง ด้วยนโยบายในการบริหารประเทศที่ได้หาเสียงไว้นั้น มีหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
สะท้อนจากมุมมองผ่าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลัง 8 พรรคการเมือง ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล โดยมีเนื้อหา 23 ข้อ ที่ถอดออกมาเป็น 3 มิติสำคัญในการวางนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่
โดยในมิติด้านเศรษฐกิจ หอการค้าฯเห็นว่า ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ผ่านประเด็นการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม การจัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ การกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งส่วนนี้จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกได้มากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เพิ่มการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และแหล่งน้ำในภาคการเกษตร การตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่
ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME การยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน หรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายประมง เหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่ม ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยทะยานส่วนกระแสวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้
ขณะที่มิติด้านสังคม หอการค้าฯมองว่า การวางแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมโดยรวม ทั้ง การเตรียมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ การระบบสวัสดิการดูแลประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติด การยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การปฏิรูประบบการศึกษา และการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero)
และสุดท้ายในมิติด้านการเมือง ในส่วนนี้ หอการค้าฯเห็นว่า จะเป็นการปฏิรูปการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยลดความขัดแย้งของสังคมได้มากขึ้น ทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐ การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการสะท้อนมุมมองของหอการค้าฯ ท่ามกลางการจับตากระบวนการจัดตั้งรัฐนาวาจะนรอดสันดอนหรือไม่ ก่อนจะฝ่าไปถึงการขับเคลื่อนนโยบายตามพันธกิจใน MOU