พิธีการลงนามในบันทึกความเข้าใจของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคผ่านพ้นไปแล้ว โดยเป็นที่จับตาถึงการส่งสัญญาณผ่านข้อความใน บันทึกความเข้าใจหรือ MOU ร่วมกันที่ไม่เป็นติติธรรมสัญญา ที่มีข้อความปรากฎอยู่ในบทนำ ตอนหนึ่งระบุว่า
“ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
ที่เชื่อกันว่าข้อความดังกล่าว จะทำให้ส.ส.พรรคการเมืองในขั้วตรงข้ามและสมาชิกวุฒิสภา คลายความกังวลต่อนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ลงไปได้บ้าง แม้พรรคก้าวไกลจะยังคงยืนยันที่จะนำเสนอการแก้ไขมาตรา 112 อยู่ก็ตาม
กระนั้น ในท่าทีของนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้ข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 26 เอาไว้ โดยเผยแพร่ข้อสังเกตผ่านเพจเฟซ Kamnoon Sidhisamarn โดยนายคำนูณเชื่อว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดเสียงข้างมากที่กำลังฟอร์มทีมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันอยู่ในขณะนี้ แต่ผมก็ยังเชื่อเข่นกันว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายคำนูณ ระบุว่า ตรงนี้คือประเด็น เพราะเมื่อเสนอร่างกฎหมายในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ใช่จะเข้าสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ จะต้องผ่านการวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้บรรจุเข้าระเบียบวาระเสียก่อนจึงจะพิจารณาได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างฯมาแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564แต่แม้เสนอแล้ว ก็ไม่เคยได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลยจนครบวาระ แม้จะมีการทวงถามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกลหลายครั้งเพราะเข้าใจว่าท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่แล้ว วินิจฉัยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ
โดยนายคำนูณ ระบว่า เข้าใจว่าเป็นการวินิจฉัยโดยรับฟังความเห็นของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายประจำที่รับผิดชอบ สำนักการประชุมให้ความเห็นทางกฎหมายพอสรุปได้ว่า… "ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมีบทยกเว้นความผิดกับบทยกเว้นโทษ กรณีถ้าเป็นการติชม แสดงความเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน…" "บทบัญญัติยกเว้นความรับผิดกับการยกเว้นโทษดังกล่าวนี้ เห็นว่าน่าจะขัดกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ…"
อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาท่านนี้ ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะวินิจฉัยเหมือนหรือต่างจากประธานสภาผู้แทนราษฎรคนก่อน หากพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามหลักการเดิมที่ปรากฎอยู่ในนโยบายของพรรค และตามตัวร่างพระราชบัญญัติที่เคยเสนอมาเมื่อต้นปี 2564 คือ "ย้ายหมวด - ลดบทลงโทษ - ยอมความได้ - เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด - ให้สำนักพระราชวังฟ้องแทน" เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรชุด 2566 อีกครั้ง พรรคต้นสังกัดของท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญยิ่งต่อคำตอบนี้ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่่ 26 สำคัญไม่แพ้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
ทั้งหมด ทั้งมวลเราเห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว ตามบริบทดังที่กล่าวมาแล้ว จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านและสังคมติดตามประเด็นดังกล่าว ตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธานสภาฯอาจบ่งชี้อนาคตของการแก้ไขมาตรา 112 หากแต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่เพียงประธานสภาฯเท่านั้นที่ต้องจับตา นายกรัฐมนตรีคนใหม่เอง ก็มีอาญาสิทธิ์ในมือคือการยุบสภาฯ ที่จะเป็นไพ่ใบสำคัญในมือในการควบคุมองคาพยพในสภาฯ