หลังความพ่ายแพ้ที่ตกอยู่กับพรรคการเมืองในปีก “อนุรักษ์นิยม” โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้หลายคนตั้งคำถามและมีข้อสังเกตว่า จากนี้ “2ป.” จะขยับกันต่ออย่างไร ในทางการเมือง ! 


 เมื่อ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ  และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเลือกเดินอย่างไรต่อ

 
 ยิ่งในจังหวะที่พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และอยู่ในขั้นตอนการ “หาเสียงสนับสนุน” จาก “ส.ว.” ไปจนถึง ส.ส.ในปีก พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งตกที่นั่ง “ฝ่ายค้าน” เพื่อรวบรวมเสียงโหวตให้ได้ “376เสียง” ส่งให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”  หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ขึ้นไปนั่งนายกฯคนที่ 30 

 ยิ่งทำให้เกิดภาพความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ “สวนทาง” กันชัดเจน เมื่อฟาก “รัฐบาลใหม่” กำลังคึกคัก แต่ 2พรรคในขั้วอนุรักษ์นิยม ได้เสียงส.ส.ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ จนทำให้ พรรคก้าวไกลเร่งปิดเกม “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” 


 แต่ดูเหมือนว่าจนถึงวันนี้ ทั้งบิ๊กตู่และบิ๊กป้อมเอง ที่แม้จะเล่นบท “นิ่งสงบ” เลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นทางการเมืองใดๆ กลับไม่ได้ทำให้ “รัฐบาลเสียงข้างมาก” วางใจได้  ทั้งที่ด้านหนึ่งพรรคก้าวไกลยังต้องรับมือกับ “ส.ว.” ที่ยังต้องลุ้นว่า จะฝ่าด่านโหวตนายกฯไปได้หรือไม่ 


 ปรากฏว่าอีกด้านหนึ่งพรรคก้าวไกล กลับต้องเผชิญกับมรสุม “ข่าวลือ” ที่สะพัดไม่หยุดหย่อนว่า กรณี “ดีลลับ”  ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ พรรคการเมืองในขั้วอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ 


 แน่นอนว่ากระแสข่าวดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกล ในจังหวะที่กำลังเดินหน้าตั้งรัฐบาล และส่งพิธา ขึ้นไปนั่งนายกฯคนที่ 30 เพราะอย่าลืมว่าทุกความเคลื่อนไหว ทุกข่าวลือล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับ กลุ่มอำนาจที่มี “2ป.” เกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น
 
ล่าสุดแม้พรรคก้าวไกล ได้ลดความสุ่มเสี่ยง เปิดช่องหายใจให้กับ “7พรรค” ที่มาร่วมรัฐบาล ด้วยการไม่บรรจุวาระการแก้ไขมาตรา 112 เอาไว้ในเอ็มโอยู เพราะไม่เช่นนั้นย่อมเป็นการยากที่จะรัฐบาลเสียงข้างมาก รัฐบาลใหม่ โดยพรรคก้าวไกล จะได้ “ไปต่อ” 
 แต่เมื่อวาระ การแก้ไขมาตรา 112ยังเป็น หมุดหมายของพรรคก้าวไกล ที่ต้องเดินหน้าต่อตามพิธา ได้ประกาศเอาไว้ในวันแถลงเอ็มโอยู 22 พ.ค.66 ที่ผ่านมา จึงเท่ากับว่า “ชนวน” ที่จะนำไปสู่จุดพลิกผันในทางการเมืองนั้นยังมีอยู่ และยังอาจกลายเป็นเงื่อนไขที่พรรคก้าวไกลเอง ยังต้องระวังหลัง ขณะที่กำลังเดินไปข้างหน้า เพื่อลุ้นให้อยู่รอด และอยู่ยาวในฐานะฝ่ายบริหารชุดใหม่ !