ทวี สุรฤทธิกุล
สมมติว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้ที่บ้านสวนพลูคงคลาคล่ำไปด้วยผู้สื่อข่าว ที่กำลังระดมคำถามใส่ท่านว่า
“รัฐบาลนี้จะตั้งได้สำเร็จไหม? และประเทศชาติจะไปรอดไหม?”
บรรยากาศนี้น่าจะเหมือนตอนที่พวกนิสิตนักศึกษามีชัยชนะต่อทหารในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนบทความรำลึกถึงเหตุการณ์วันมหาวิปโยคในครั้งนั้นว่า “ยินดีกับชัยชนะของพวกคุณ แต่ก็ห่วงใยในอนาคตของบ้านเมือง”
ก่อนอื่นต้องขอเท้าความสำหรับท่านที่เกิดไม่ทันยุคสมัยของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ตอนนั้นผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใน พ.ศ. 2515 มีการเดินขบวนประท้วงสินค้าญี่ปุ่นของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดยคุณธีรยุทธ บุญมี มาตั้งเวทีปราศรัยที่ข้างทำเนียบฯ พอดีโรงเรียนของผู้เขียนอยู่ใกล้ ๆ ก็เลยได้ไปร่วมฟังปราศรัย การปราศรัยเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน ทำให้ได้อรรถรสในการฟังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเสียดสีรัฐบาลทหารกับพ่อค้าและสินค้าญี่ปุ่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของขบวนการ “เด็กครองเมือง”
ต้นปี 2516 มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการล่าสัตว์ในอุทยานฯทุ่งใหญ่นเรศวร โดยมีการใช้เฮลิคอปเตอร์กับอาวุธสงคราม ซึ่งมีข้าราชการระดับบิ๊กเกี่ยวข้อง ในสังคมมีการก่นด่าการกระทำเรื่องนี้อย่างดุเดือด รวมถึงหนังสือพิมพ์สยามรัฐของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ทำให้สยามรัฐเป็นอีกศูนย์กลางหนึ่งของการต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยผู้นำนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้เข้าพบกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่บ้านสวนพลูอีกด้วย
ต้นเดือนตุลาคม ปี 2516 มีกลุ่มคนเดินแจกใบปลิวไปตามถนนในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คนเหล่านั้นถูกจับไปขังที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ปล่อยตัวคนเหล่านั้น แม้ต่อมาตำรวจจะปล่อยตัวแล้ว แต่การชุมนุมก็ไม่ยุติ ยืดเยื้อจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม ที่ได้เดินออกมาบนถนนราชดำเนินจนมาหยุดที่พระบรมรูปทรงม้าในตอนหัวค่ำ พอตอนดึกก็มีข่าวว่าผู้นำนิสิตนักศึกษาได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว จนรุ่งเช้าก็ส่งข่าวออกมาให้ประกาศว่า ทหารยอมที่จะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 6 เดือน
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมชุมนุมและได้ฟังประกาศนี้อย่างชัดเจน ผู้นำการชุมนุมที่ตั้งอยู่นอกพระราชวังสวนจิตรลดารโหฐานในตอนนั้นคือคุณเสกสรร ประเสริฐกุล ประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับบ้าน ผู้เขียนมาขึ้นเมล์กลับบ้านที่หน้าวัดเบญจมบพิตร พอถึงบ้านได้ฟังข่าววิทยุก็ทราบว่ามีการปะทะกันที่มุมพระตำหนักสวนจิตรฯด้านตรงข้ามเขาดิน และลุกลามเป็นการจลาจลไปทั่วถนนราชดำเนิน จนกระทั่งค่ำก็ปรากฏภาพในโทรทัศน์ของพระเจ้าอยู่หัว ทรงขอร้องให้ทุกฝ่ายเลิกต่อสู้กัน พร้อมกับพระราชทานนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติให้มาเลือกกันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จในปี 2517 ตามมาด้วยการเลือกตั้งในต้นปี 2518 ต่อมา
ผลการเลือกตั้งในปี 2518 พรรคการเมืองที่เรียกกันว่า “ฝ่ายซ้าย” หรือพรรคที่มีแนวคิดสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งเข้ามามากพอสมควร อันแสดงถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงสังคมกำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ แต่ฝ่ายที่ได้จัดตั้งรัฐบาลก็ยังคงเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเลือกตั้งมี ส.ส.เข้ามามากกว่าพรรคอื่น เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในตอนเริ่มต้น แต่พอถึงวันแถลงนโยบายเพื่อขอการรับรองจากสภาก็แพ้ ทำให้มีการรวมกลุ่มไปฟอร์มรัฐบาลมาใหม่ ซึ่งพรรคต่าง ๆ ก็พากันสนับสนุนพรรคกิจสังคมที่มีท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค
ความจริงพรรคกิจสังคมก็ต้องถือว่าเป็นพรรคการเมืองในฝ่ายหัวก้าวหน้าอยู่ด้วยอีกพรรคหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจตามแนวอุดมการณ์ของพรรคกิจสังคมนั้นใช้วิธีการผลิตแบบทุนนิยม คือเน้นการค้าเสรีและระบบตลาด แต่การกระจายผลผลิตและรายได้ใช้แนวทางสังคมนิยม ที่เน้นการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การกระจายโอกาส และการสร้างความเท่าเทียมในสังคม แต่พอต้องร่วมกับพรรคอื่น ๆ จึงต้องปรับนโยบายหลาย ๆ อย่าง ทำให้ไม่ได้ใช้นโยบายของพรรคในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นที่สุดของพรรคกิจสังคมก็คือหัวหน้าพรรค คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ อย่างที่ได้เกริ่นให้ทราบแล้วว่าท่านมีบทบาทโดดเด่นมาตั้งแต่ตอนก่อนเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516
หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มนักศึกษาก็ยังมีการขอเข้าพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่เป็นประจำ จนเมื่อท่านได้เป็นรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2518 โดยพรรคกิจสังคมของท่านแม้จะมี ส.ส.เพียง 18 คน แต่ด้วยบารมีอันโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของหลาย ๆ วงการ ทำให้ท่านได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาล ซึ่งก็ได้ทำให้ท่านต้อง “ห่างเหิน” แยกตัวออกมาจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาเหล่านั้น แต่ท่านก็ยังมีการสื่อสารกันด้วยสื่อสังคมต่าง ๆ ทั้งการให้สัมภาษณ์ และการบอกผ่านผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ทางสื่อมวลชน
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ทราบว่าจะมีการทำ MOU กันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่กระนั้นการจัดตั้งรัฐบาลจริง ๆ คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะ
ระหว่างนี้ถ้าท่านใดสนใจอยากช่วยชาติบ้านเมืองด้วยการเสริมสร้างสติปัญญาและพลังความรู้เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาบ้านเมือง ก็อยากจะเชิญชวนไปฟังการอภิปรายทางวิชาการเพื่อสังคมไทย จัดโดยสถาบันคึกฤทธิ์ ตั้งอยู่ที่ซอยงามดูพลี เขตสาทร ในวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2566 เวลา 14.00 – 16.00 น. โทรศัพท์ 0-2286-5385-6 เพื่อจองที่นั่ง หรือชมสดทาง Facebook Live : KUKRITINSTITUTE
หัวข้อการอภิปรายคือ “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” ผู้อภิปรายมี 2 ท่าน คือ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งในทางวิชาการวิชาชีพที่มีชื่อเสียงมานาน กับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กูรูเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ซึ่งมีข่าวว่าอาจจะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยให้คุมกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ ดำเนินการอภิปรายโดย ม.ร.ว.ปริดียาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
ส่วนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะสอนว่าที่นายกฯคนใหม่อย่างไรนั้น เอาไว้ในสัปดาห์หน้าค่อยมาว่ากันต่อ เพราะน่าจะมีเวลาให้ฯพณฯเตรียมตัว