การแถลงข่าวการจับมือกันของ 8 พรรคการเมือง เพื่อตั้ง รัฐบาลเสียงข้างมาก 313 เสียง มีขึ้นครั้งล่าสุดโดยการนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยหัวหน้าพรรค อีก 7 พรรค เมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 อบอวลได้ด้วยบรรยากาศชื่นมื่น สุดคึกคัก
พร้อมกันนี้ได้นัดหมายจะมีการแถลงทำเอ็มโอยู ร่วมกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พ.ค.66 นี้ เพื่อแสดงความชัดเจน และตอกย้ำว่านี่คือ รัฐบาลเสียงข้างมาก อีกทั้ยังเลือกประกาศในวันเดียวกับที่เคยเกิดรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค.2557 จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี 3ป. เข้าไปเกี่ยวข้อง
ภายใต้ท่าที ที่มีความเชื่อมั่นของ พิธา ว่าที่สุดแล้ว เขาจะสามารถได้รับ เสียงโหวต จนครบ 376เสียง โดยเฉพาะจาก สมาชิกวุฒิสภาที่เคยตั้งป้อม ค้านสุดตัว ก็เริ่มมีท่าทีอ่อนลง อีกทั้งปรากฎว่า มีส.ว.หลายคนได้แสดงตัวแล้วว่าจะสนับสนุนพิธา ทั้งนี้พรรคก้าวไกล ต้องการเสียงส.ว.อีก 63 เสียง เพื่อไปบวกกับ 313 เสียงของ 8 พรรคการเมืองที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ แน่นอนว่าเสียงส.ว.ที่จะเทมาหนุน พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เป็น คู่ปรับ กันมาตลอด 4ปีที่ผ่านมา ย่อมไม่ใช่เรื่องที่พรรคก้าวไกล จะสามารถ จัดการได้ เอง กลยุทธ์ทางการเมืองเช่นนี้ต้องพึ่งพา เซียนการเมือง อย่าง 2ส. ทั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เพิ่งทิ้งพรรคพลังประชารัฐ ของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แล้วย้ายกลับมาอยู่ที่พรรคเพื่อไทย
แต่การกลับมาที่พรรคเพื่อไทย ของ 2ส. รอบนี้กำลังสร้างผลงานชิ้นโบว์แดง ด้วยการวิ่งล็อบบี้ ส.ว. เพื่อยกมือโหวตให้กับ พิธา ฝ่าด่านส.ว. ขึ้นไปนั่งเป็นนายกฯคนที่ 30 อย่างฉลุย !
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะ ใต้ดิน เช่นนี้ น่าจะเป็นคำตอบให้ได้ว่า เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วงได้จริงแล้ว ตามที่ พิธา กับอีก 7 พรรคมุ่งหวัง อาจไม่สามารถการันตีได้ว่า ด่าน ต่อไปที่รัฐบาล 8 เสียงจะไม่พึ่งพาบริการ จากส.ว.อีก
เพราะอย่าลืมว่า ยังมีด่านสำคัญ คือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ฯ ซึ่งถือเป็นกฎหมายการเงิน ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หากพลาดพลั้ง กฎหมายไม่ผ่านสภาฯ รัฐบาลที่นำโดย พิธา และพรรคก้าวไกล จะต้องสะดุด หลังฮันนีมูนผ่านไปด้วยแล้วหรือไม่ ?
************