สถาพร ศรีสัจจัง

ปรากฏการณ์ทาง “การเมือง” ในสังคม “สยาม” ณ ปี พ.ศ.2475 ที่ กลุ่ม “ชนชั้นนำ” ทางการศึกษา (แบบตะวันตก)ทั้งที่ได้รับอิทธิพลโดยตรง (ไปเรียนรู้จากพื้นที่นั้นๆ) และ อิทธิพลโดยอ้อม (เรียนรู้และรับรู้ทางอ้อมโดยวิธีต่างๆ)รวมตัวกันขึ้นเป็น “คณะก่อการ” โดยเรียกคณะของตัวเองว่า “คณะราษฎร”

ทั้งนี้ โดยมีกองกำลังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ  คือ “ฝ่ายพลเรือน” ที่ฟังว่ามีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือ ดร.ปรีดี  พนมยงค์ ดุษฎีบัณฑิตทางกฏหมายจากประเทศฝรั่งเศสเป็นหัวขบวน และ “ฝ่ายทหาร” ที่มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ นายพจน์  พหลโยธิน นายทหารน้ำดีเป็นผู้นำ 

ฟังมาอีกว่าหลังเตรียมการทั้งทางความคิด และ “การจัดตั้ง” กันมาตั้งแต่บรรดาผู้นำของคณะดังกล่าวยังศึกษากันอยู่ในประเทศแถบยุโรป ก็ได้ก่อการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐจากพระมหากษัตริย์(ผู้นำการปกครองในระบอบที่เรียกกันทางรัฐศาสตร์ว่า “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”)ในขณะนั้น คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 

และประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบที่ฝรั่งอั้งม้อ ชาติตะวันตกเรียกว่า “Democracy” หรือที่ราชบัณฑิตฯไทยบัญญัติศัพท์ให้ใช้เป็นภาษาไทยว่า “ประชาธิปไตย” มาจนถึงบัดนี้นั่นแหละ 

หลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับแรกของประเทศ ให้พระมหากษัตริย์เจ้าของอำนาจเบ็ดเสร็จแต่เดิมมีตำแหน่งเป็น “พระประมุขของชาติที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ” และมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง “ผู้แทนราษฎร” เข้าสู่ “รัฐสภา” เพื่อพิจารณาเลือก “นายกรัฐมนตรี” ที่จะคัดเลือก “คณะรัฐมนตรี” ขึ้นมาชุดหนึ่ง ร่วมกันทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายบริหารสูงสุด” ของประเทศต่อไป

กล่าวโดยสรุป “คณะราษฎร” ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มหัวหอกในการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองดังกล่าวได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันชื่นชม “อำนาจ” ในการเป็น “ผู้นำ” ทางการเมืองการปกครองประเทศ ระหว่าง “ฝ่ายทหาร” ที่ภายหลังมีจอมพลป.พิบูลสงคราม หรือนายแปลก คีตะสังฆะ เป็นหัวเรือ และฝ่ายพลเรือนที่มี ดร.ปรีดี  พนมยงค์ เป็นหัวเรือ อยู่เป็นเวลารวมแล้วประมาณ  25 ปี (ระหว่าง พ.ศ.2475-2500)

ถึงปี 2500  จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น (ฟังว่าภายใต้ความเห็นชอบของมหามิตรผู้ยิ่งใหญ่คือสหรัฐอเมริกา)ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพลป.พิบูลสงคราม ได้สำเร็จ  ปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ(ข้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว)สืบมาจนถึงปี 2506 ก็เสียชีวิต(ถึงแก่อสัญกรรม)ลง 

ลูกน้องคนสนิท(ที่ร่วมทำรัฐประหารกันมา) คือจอมพลถนอม  กิตติขจรและคณะ ก็เข้า “เทกโอเวอร์” ปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการสืบต่อมาจนถึงปีพ.ศ.2512 จึงคลายความตึงเครียดทางสังคม โดยประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น(นายชวน หลีกภัย เป็น ส.ส.ครั้งแรกจากจังหวัดตรัง)

ปีพ.ศ.2514 จอมพลถนอมและคณะทำรัฐประหารรัฐบาลของตัวเอง(มีตัวเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น)  ฉีกรัฐธรรมนูญและปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการต่อไป

กลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ภายใต้การนำของ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” หลังผ่านการตระเตรียมทางความคิดและการต่อสู้มาระยะหนึ่งแล้ว(เริ่มตั้งแต่จอมพลถนอมรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง)ก็ได้ก่อขบวนนำพาประชามหาชนเรือนแสนเดินขบวนประท้วงการจับตัวสมาชิก “ขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” รวม 13 คน(เรียก “13 ขบถ” ในภายหลัง) จนเกิดการปราบปรามด้วยกำลังอาวุธจากรัฐบาลเผด็จการ “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ในยุคนั้นอย่างรุนแรงขึ้นกลางกรุงเทพมหานคร(โดยเฉพาะบริเวณสนามหลวงและถนนราชดำเนิน) มีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนไม่น้อย

“3 ทรราช” (คำเรียกของคนไทยในขณะนั้น)ถูกกดดันให้ลี้ภัยออกนอกประเทศ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาธรรมศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นปกครองประเทศชั่วคราว ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล 

ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 จอมพลถนอม  กิตติขจร ที่เคยถูกพลังของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เดินขบวนขับไล่จนต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ บวชเป็นสามเณรแอบกลับเข้ามาเมืองไทย นักเรียน นักศึกษาประชาชน จึงรวมตัวกันประท้วงใหญ่ขับไล่ โดยตั้งหลักกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์)

ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม กองกำลังตำรวจ(นอกแถว?)และกองกำลังจัดตั้งในชื่อต่างๆ เช่น “กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน” (บางกลุ่ม) “กลุ่มกระทิงแดง”ฯ ก็รวมพลเข้าโจมตี นักเรียนนักศึกษาประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่รวมตัวกันต่อสู้อย่างสันติอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยกำลังอาวุธอย่างรุนแรงหฤโหด แบบที่ “คมทวน คันธนู” กวีสำคัญของสังคมไทยคนหนึ่งในยุคนั้น ได้เขียนบันทึกสรุปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้เป็นบทกวีตอนหนึ่งว่า :

“…ความโหดทุกแห่งหน/นั้นเกินเปรียบและเทียบทาม/ สรรคำเป็นแสนความ/ก็พ่ายหกตุลาฯเห็น/ ทุบถีบขึ้นเข้าแถว/ไปขังคุกที่ลำเค็ญ/ ผีเปรตก็แปรเป็น/เทวดาในแผ่นดิน!ฯ"

แล้วการรัฐประหารด้วยข้ออ้าง “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ภายใต้การนำของขุนทหารในยามนั้นที่ชื่อพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ในนามของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ก็พลันบังเกิดขึ้นอีก  อำนาจรัฐไทยก็ตกอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของ “เผด็จการทหาร” อย่างสมบูรณ์แบบอีกครั้ง!

แล้วเหตุการณ์ “ไทยรบไทย” ครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น เมื่อนักเรียนนิสิตนักศึกประชาชนและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบเผด็จการทหารที่ย่ำยีผู้บริสุทธิ์ในยุคนั้น  ได้ตัดสินใจ “เข้าป่า” ไปร่วมกับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” เพื่อต่อสู้กับรัฐบาล “ปฏิกิริยา” อย่างพร้อมเพรียง โดยอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีครั้งไหนที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยจะได้ “แนวร่วมการต่อสู้” กับรัฐบาลมากเท่าครั้งนี้ ก่อนที่ “วิกฤติสังคมนิยม” จะก่อเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลก 

พร้อมๆกับการถือกำเนิดของนโยบาย “สมานฉันท์” ที่สำคัญ ในชื่อ “นโยบาย 66/23” (ประกาศใช้ปีพ.ศ.2523)โดยนายกรัฐมนตรีคนที 16 “ผู้เงียบขรึมลุ่มลึก” ของไทย นาม “พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรี 3 สมัย (8ปี)ผู้ได้รับพระราชทานตำแหน่ง “รัฐบุรุษ” อันทรงเกียรคิในเวลาต่อมา!!!