ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว เรื่อง“ภาษาการเมือง(ที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมือง)” ตามทรรศนะของ พระธรรมโกศาจารย์ พุททาสภิกขุ ที่ได้แสดงเอาไว้ในการอบรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มพุทธศาสตร์ เรื่อง “ภาษาเกี่ยวกับการเมือง” (https://pagoda.or.th/buddhadasa/20230330.html) ดังได้นำความมาเผยแพร่ ดังนี้

“…-สังคมนิยม

เรานึกแต่สังคม ภาวนานึกถึงแต่สังคมอยู่ แล้วถ้านึกถึงผู้อื่นแล้วมันจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร ถ้าเห็นแก่ผู้อื่นอยู่มันก็เอาเปรียบผู้อื่นไม่ได้ ถ้าเห็นแก่ตัว มันก็เอาเปรียบผู้อื่นได้ เพระฉะนั้นนิยมสังคม มันก็เห็นแก่ผู้อื่น แล้วมันก็ช่วยผู้อื่น แล้วมันก็ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่เอาส่วนเกินมาเป็นของตัว เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีไปอย่างสมัยนี้ เพราะงั้นมันจะผลิตอะไรขึ้นมาก็ผลิตเพื่อสังคม นี้เดี๋ยวจะพูดให้ฟัง ถึงคำอีกคำหนึ่ง การเห็นแก่ตน กับการเห็นแก่ผู้อื่น สองคำนี้คุณจะเลือกเอาอย่างไหน ถ้าคุณมีกิเลสมาก ก็ต้องเลือกเอาเห็นแก่สิ ไม่เลือกเอาความเห็นแก่ผู้อื่น แต่ถ้าไม่มีกิเลส มีจิตใจอยู่เป็นกลางๆ ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ แล้วก็จะเห็นแก่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย คือไม่เห็นแก่ตัว คนส่วนมากพูดว่าเกลียดความเห็นแก่ตัว แต่ตัวเองนั่นแหละ มันเป็นจอมของความเห็นแก่ตัว ที่คุณทะเลาะวิวาทกันนั้น ไม่ใช่เพราะว่าเห็นแก่ตัวเหรอ ไม่ได้เห็นแก่อะไร   ถ้าทะเลาะวิวาทกัน หรือขัดแย้งกัน หรือว่าไม่มีทางตกลงกันได้ ก็ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัวทั้งนั้น มันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เสรีนิยม หรือสังคมนิยม มันมีความหมายที่ตรงกันข้ามอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องของพระอริยเจ้า แล้วไม่มี ไม่มีอุปสรรค ไม่มีข้อขัดแย้งกัน เพระงั้นเป็นเสรีของคนที่ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้เรายังมีโลกของคนที่เห็นแก่ตัว เพระงั้นเราต้องนิยมสังคมมากกว่าที่จะนิยมตัวเอง

5. ระบบพรรคและระบบบุคคล

ในโลกนี้ก็มีระบบการเมืองเป็นระบบพรรคบ้าง เป็นระบบบุคคลบ้าง แล้วแต่ว่าประเทศไหนมีรัฐธรรมนูญประเทศไหนจะมุ่งหมายอย่างไร ประเทศเราก็เพิ่งมีรัฐธรรมนูญ ระบบพรรคหยกๆ นี่เอง นี่ก็อยากจะดูอีกว่า ระวังให้ดี มันมีผิด มีถูก มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ว่าระบบพรรคมันมีอะไรที่น่ากลัวกว่า เพราะว่าระบบพรรคมันมีโอกาสที่จะใช้อำนาจเงิน หรือใช้อำนาจอะไรที่มันเป็นล่ำเป็นสัน มากกว่าที่มันเป็นระบบบุคคล แต่ละบุคคลมันก็รวมกันเป็นพรรค ถ้าคนรวย มันก็รวมกันเป็นพรรค แล้วมันก็เล่นงานคนจนได้ง่าย ถ้าคนจนมันรวมกันเป็นพรรค มันก็ฆ่าคนร่ำรวยได้มาก ระบบพรรค มันก็มีส่วนที่ต้องระวังกันอย่างนี้

ระบบพรรคมันมีทางที่จะถอยหลังเข้าคลอง หรือลงเหวได้ไม่ทันรู้ตัว โดยวิ่งไปข้างหน้าได้ลงเหวโดยไม่ทันรู้ตัว เพราะมันตันด้วยความทะลุดุดัน ผูกพันกันเป็นพรรค ถ้ามันมีหลักธรรมะ มันก็ดี แต่ที่แล้วๆมา มันเห็นได้ว่าที่ผูกพันกันเป็นพรรคก็เพื่อจะมีอำนาจ หรือมีกำลังมากขึ้น ในรูปเดิม คนเดียวเอาเปรียบเค้าไม่ทันใจ ถ้าผูกพันกันเป็นพรรค เอาเปรียบเค้า มันก็ได้มากกว่า คืนเร็วกว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้และระบบพรรคสุดทางมาของความพินาศแล้วก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยและก็ไม่ใช่เสรีนิยมด้วย มันพรรคนิยม! เกิดขึ้นก็เห็นแก่การที่จะกอบโกยผลประโยชน์เร็วๆ มันก็ไม่ใช่ประชาธิไตยอย่างบุคคล

ไปทบทวนดูให้ดี อันไหนมันจะช่วยได้ อันไหนมันจะง่ายหรือสะดวก ในการที่จะประกอบอยู่ด้วยธรรม ถ้าคนส่วนมากมันประกอบอยู่ด้วยธรรม ระบบพรรคมันก็ดีแน่ แต่ว่าคนส่วนมากมันมีกิเลส ระบบพรรคมันก็เพิ่มกำลังให้กับกิเลส ไม่ได้เพิ่มกำลังให้แก่ธรรมมะหรือพระธรรมเลย มันกำกวมอยู่อย่างนี้ มันจึงต้องเอามาพูด เพราะมันสับสนกันอยู่ มันจะได้รู้เรื่อง…” (อ่านต่อฉบับหน้า)